อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่ 1

อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่ 1

หลังจากประเทศไทยผ่านการเว้นวรรคการจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มาเป็นเวลา 8 ปี

การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองหลายสิบพรรคอยู่ในขณะนี้ จึงมีความเข้มข้น แปลกใหม่ น่าสนใจ ทั้งสร้างสรรค์มากบ้าง น้อยบ้างปะปนกันอยู่มาก ความสับสนในหมู่ของประชาชนโดยทั่วไปจึงเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งหลายสำนักออกมาทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนตัวอย่างต่อความน่านิยมของพรรคการเมืองและรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการสลับสับเปลี่ยนกันอย่างขาดความแน่นอน ยิ่งทำให้กระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยทั่วไปลดน้อยลงกว่าที่ควร ประกอบกับผู้สมัครจำนวนมากเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ประชาชนผู้เลือกตั้งไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ภูมิหลัง และประสบการณ์ของแต่ละท่าน และเจตนารมณ์ของการลงสมัครรับเลือกตั้งที่ชัดเจน โดยเฉพาะในแง่มุมของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง 

บทความนี้ต้องการให้กำลังใจแก่ทุกฝ่าย ทุกคนที่ประสงค์มีส่วนร่วมในการทำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้านสังคมที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำทุกรูปแบบ และด้านการเมืองที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งอายุน้อยและสูงอายุ ทั้งในเมืองและชนบท ทั้งที่ร่ำรวย ปานกลาง และยากจน มีส่วนร่วมในการมีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน 

ประชาธิปไตยจึงไม่เป็นสมบัติของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ใช่สมบัติของรัฐบาล พรรคการเมืองเสียงข้างมาก ฝ่ายทหารหรือพลเรือน ชาวเมืองหรือชาวชนบท แต่เป็นการปกครองที่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีสิทธิทำให้เสียงของฝ่ายนั้นๆได้เป็นที่ได้ยิน ได้รับฟัง ได้รับการนำไปพิจารณาปฏิบัติหากมีเหตุมีผลที่เหมาะสม 

ดังนั้นรูปแบบของระบบที่ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมได้ก็คือต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูด ได้ออกความคิดเห็นได้ เสนอแผนการนโยบาย แต่ในทำนองเดียวกันก็ต้องตั้งอกตั้งใจรับฟังฝ่ายอื่นๆ ที่อาจจะเห็นตรงกัน หรือไม่ตรงกัน ให้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและพูดจาแสดงออกได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ดังที่นักปราชญ์โวลแตร์ (Voltaire) ของฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า “แม้ว่าผมจะไม่เห็นชอบกับสิ่งที่คุณพูดเลยก็ตาม แต่ผมจะสู้อย่างสุดชีวิตที่จะปกป้องสิทธิของคุณที่จะพูดสิ่งนั้น” 

กระบวนการประกาศนโยบายของพรรคการเมืองและจุดยืน จึงเป็นเรื่องการแสดงออกที่สำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย แต่การรับฟังและการให้เหตุผลซึ่งกันและกันซึ่งอาจจะมีในเวทีสัมมนาหรือการอภิปรายในรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การรับฟังเพื่อหาเหตุผลและทางเดินร่วมกันอย่างดีที่สุดจึงเป็นกระบวนการที่ไม่ควรทำเพียงแค่เพื่อเอาชนะคะคานเท่านั้น แต่เพื่อสร้างกระบวนการทำความเข้าใจในเหตุผล และปัญหาซึ่งกันและกันที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยมีส่วนในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง 

เราจึงต้องยึดหลักว่าเรายังคงเป็นเพื่อนกัน ยังคบหาสมาคมกันได้ ยังรักกันได้ในสถานะเพื่อนร่วมชาติ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องตั้งใจฟังซึ่งกันและกัน และยอมให้มีความเห็นหลากหลายแตกต่างจากความเห็นของเราได้ ความแตกต่างในความคิดเห็นจึงไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมที่อาจจะถูกใช้โดยต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งขันของไทยไปในทำนองที่ขยายจุดอ่อนทำนองให้เราเสียความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและเสียโอกาสในการระดมเงินทุนจากต่างประเทศได้

การรณรงค์หาเสียงจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญของระบบการเลือกตั้ง และกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิออกเสียงสามารถเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจากทุกด้าน ทั้งที่ย้อนแย้งและตามกระแส การรณรงค์จึงจะเป็นบันไดที่ปูพื้นนำไปสู่การทำงานในระบบรัฐสภาที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง หากการหาเสียงชี้แจงเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์มากที่สุด พรรคการเมืองในไทยโดยทั่วไป ไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนว่าเป็นแนวซ้ายสุดหรือขวาสุดเหมือนที่เห็นในยุโรป หรือเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม (รีพับลิแกน) และฝ่ายก้าวหน้า (เดโมแครต) เช่น ในสหรัฐ 

อาจจะกล่าวได้ว่าแนวทางอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยยังคงเกาะกลุ่มอยู่ในระนาบของจุดยืนที่อยู่ในช่วงกึ่งกลาง อย่างมากก็อาจจะมีลักษณะในบางกรณีที่เป็นซ้ายของกลางหรือขวาของกลาง ทำให้ความแตกต่างในแนวของนโยบายที่ชัดเจนจึงไม่ปรากฏชัด เช่นในสหรัฐฯ พรรครีพับลิแกนมีแนวโน้มที่จะวางนโยบายการแข่งขันเสรีเต็มที่และเปิดโอกาสให้มีการลดภาระภาษีอากรของผู้มีรายได้สูง ส่วนพรรคเดโมแครตจะยึดในหลักการที่รัฐบาลต้องการมีส่วนร่วมในการวางนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และเน้นการเก็บภาษีผู้มีรายได้สูงเพื่อนำมาใช้ในโครงการช่วยเหลือทางสวัสดิการ เช่นในการรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น เป็นต้น

โดย... ศุภชัย พานิชภักดิ์