เศรษฐกิจยุคคบซ้อน
ปัจจุบันนี้ เกือบครึ่งของเด็กเจน Z เลือกที่จะเป็นฟรีแลนซ์ และมากกว่าครึ่งไม่มีความกังวลว่า งานของตนเองจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีออโตเมชั่น
“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรคะ?”
จะมีเด็กคนไหนไหมที่ตอบว่า “หนูฝันอยากเป็นฟรีแลนซ์ค่ะ” เพราะในสมัยที่พวกเขาเป็นเด็ก งานแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยม และดูไม่มีความมั่นคง
แต่เชื่อหรือไม่ ปัจจุบันนี้เกือบครึ่ง (46%) ของเด็กเจน Z เลือกที่จะเป็นฟรีแลนซ์ และมากกว่าครึ่ง (69%) ไม่มีความกังวลว่า งานของตนเองจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีออโตเมชั่น (รายงานจาก Upwork, 2018)
เจเนอเรชั่นที่เด็กที่สุดในวันนี้คือเจน Z (อายุ 22 ปีลงมา) พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี เรียกได้ว่าตอนที่ iPhone เปิดตัวครั้งแรก พวกเขาอายุไม่เกิน 12 ปี พวกเขามีไลฟ์สไตล์รักอิสระ ชอบความยืดหยุ่น และต้องการเลือกแนวทางการทำงานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นอย่างแน่นอน
จึงเป็นที่มาของการเติบโตของคำว่า Gig Economy เศรษฐกิจยุคที่เปิดกว้างสำหรับการจ้างเหล่าฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์ เอาท์ซอร์ส ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ ในภาษาอังกฤษเรียกคนทำงานกลุ่มนี้ว่า Gig Worker พวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติด ไม่ผูกมัดกับงาน นายจ้างที่ใดที่หนึ่ง สามารถทำงานมากกว่า 1 งาน มีนายจ้างมากกว่า 1 คนในเวลาเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็ “คบซ้อน” นั่นเอง
สาเหตุ 3 ประการที่ทำให้ “เศรษฐกิจยุคคบซ้อน” ทวีความน่าสนใจสำหรับกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่
1. ทัศนคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนไป ผลักดันให้คนสนใจอาชีพฟรีแลนซ์มากขึ้น
ในปัจจุบันเจน Y ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในองค์กร และเจน Z เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนทั้ง 2 เจเนอเรชั่นนี้จะกลายเป็นประชากรหมู่มากสำหรับองค์กร ซึ่งจะมีจำนวนถึง 75% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
สาเหตุที่พวกเขาสนใจอาชีพฟรีแลนด์ เพราะเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเลือกทำในสิ่งที่เขาอยากทำ พบว่า 43% ต้องการมีตารางชีวิตที่ยืดหยุ่น สามารถไปเที่ยว ใช้ชีวิตกับครอบครัว ทำงานที่บ้าน ไม่อยากไปเจอปัญหาดราม่า การเมืองที่ออฟฟิศ
นอกจากนี้ยังมองว่า งานฟรีแลนด์ช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขาอยู่ในฐานะ “ผู้เลือก” นายจ้าง ว่าอยากจะทำโปรเจคไหน กับบริษัทอะไร
2. ผู้ว่าจ้างก็สนใจเพราะช่วยลดต้นทุน อีกทั้งได้งานตามต้องการ
นายจ้างมักมองว่าการจ้างฟรีแลนซ์ช่วยประหยัด เพราะไม่ต้องดูแลสวัสดิการในฐานะพนักงานประจำ ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ถึง 66% ที่หันมาใช้ฟรีแลนซ์ทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งกระแสลดจำนวนพนักงานก็ยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี ประกอบกับเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้สามารถสั่งงาน ตามงาน อัพเดทงานกันได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งที่นายจ้างปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานและวิธีทำงานไม่ได้ต่างจากการเป็นพนักงานประจำ
นอกจากนี้ 58% ของบริษัทขนาดกลาง ก็หันมาใช้ Gig Worker โดยเฉพาะสำหรับงานที่ต้องอาศัยทักษะใหม่ๆ ที่ยากที่หาได้ในตลาดแรงงานปัจจุบัน
3. เทคโนโลยีสนับสนุนให้เศรษฐกิจยุคคบซ้อนเติบโต
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยนี้ ช่วยให้สามารถทำงานจากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ จะไปไหนก็หาต่อ Wifi ได้เกือบทุกที่ อีกทั้งยังมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ประชุมทางไกล บริหารโครงการแบบทางไกลไร้กังวล
อย่างไรก็ดี การเติบโตของ Gig Economy ยังคงเป็นที่จับตามองว่า มันกำลังกลายเป็นระเบิดเวลาหรือไม่?
ในขณะที่แรงงานรุ่นใหม่กำลังเอ็นจอยกับการทำงานแบบคบซ้อนเพราะทั้งอิสระ ยืดหยุ่น ไม่ผูกมัดอยู่นั้น ทางผู้ว่าจ้างก็เอ็นจอยกับการได้งานดีราคาถูก
ในวันนี้เด็กกลุ่มนี้อาจไม่ได้มองสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ในฐานะลูกจ้าง หรือการเติบโตในสายอาชีพว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในอนาคตเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น มุมมองอาจเปลี่ยนไป หันกลับมามองว่ารายได้ที่ได้รับพอเพียงสำหรับการสร้างอนาคตหรือไม่ เมื่อคิดกลับเข้าสู่องค์กร ยังทันไหมกับการเติบโตในสายอาชีพ
หรือแท้จริง เศรษฐกิจยุคคบซ้อนนี้ อาจจะเหมาะกับคนรุ่นใหญ่มากกว่า ที่อยู่ในโลกการทำงานสายอาชีพหนึ่งมาทั้งชีวิต วันนี้เมื่อโลกเปิด จึงอยากมีโลกใบที่ 2 หันมาทำอีกอาชีพ และเอ็นจอยกับโลกทั้ง 2 ใบ หลายครั้งที่ดิฉันนั่ง Grab โดยมีคนขับเป็นอดีตผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ข้าราชการ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เบื่อกับการอยู่ในออฟฟิศ 5 วัน 8 ชั่วโมง ก็เอาเวลาหลังเลิกงานไปขับ Grab เพื่อผ่อนคลาย เปลี่ยนบรรยากาศ ได้เรียนรู้ ได้เจอคนเยอะ แก้เบื่อ แถมได้เงินอีกต่างหาก