ไทยต้องกังวลกับเศรษฐกิจจีน“ยุคโตต่ำลง”หรือไม่(จบ)

ไทยต้องกังวลกับเศรษฐกิจจีน“ยุคโตต่ำลง”หรือไม่(จบ)

จากตอนที่แล้ว ได้วิเคราะห์ว่า ทำไมเศรษฐกิจจีนโตต่ำลง แล้วจะฉุดลากให้เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอลง และทำไมเศรษฐกิจจีนโตต่ำ เศรษฐกิจไทยลำบาก

บทความตอนนี้ เรามาวิเคราะห์กันต่อ เพื่อดูว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวครั้งนี้เป็นภาวะชั่วคราวหรือของจริง

หากเราไปลองไล่เรียงดูสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน พบว่า มี 5 ดัชนีจีนโตต่ำลง และ 1 ปัญหาเพิ่มสูง

เริ่มจากตัวแรก ดัชนีด้านการบริโภค พบว่า การเติบโตของยอดขายปลีกในจีน (Retail Sales Growth) ในช่วงปี 2017-2018 เติบโตต่ำลง สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคจีนที่แผ่วลง และด้วยการจับจ่ายใช้สอยในตลาดค้าปลีกที่ลดลงย่อมสะท้อนความอึมครึมของเศรษฐกิจจีนขาลง

ไทยต้องกังวลกับเศรษฐกิจจีน“ยุคโตต่ำลง”หรือไม่(จบ)

สำหรับดัชนีอีก 3 ตัวของจีนที่โตต่ำลงจะอยู่ในภาคการผลิต ได้แก่ ตัวที่สอง คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index หรือ PMI)  เติบโตในอัตราต่ำลงในช่วงปี 2017-2018 ตัวเลขดัชนีนี้สะท้อนภาคการผลิตของจีนที่ถดถอยลง เนื่องจากดัชนี PMI มาจากการสำรวจภาคการผลิตต่างๆ เช่น โรงงาน ยอดสั่งซื้อ ภาวะการจ้างงาน และปริมาณการผลิต

ตัวที่สาม คือ ดัชนีการลงทุนในสินทรัพย์คงที่  (Fixed Assets Investment Growth) ของจีนที่เติบโตถดถอยต่ำลง ดัชนีนี้ของจีนจะวัดค่าการเปลี่ยนแปลงในยอดการใช้จ่ายทั้งหมดในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุนที่ไม่ใช่ในเขตชนบท เช่น โรงงาน ถนน สายส่งไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์

ตัวที่สี่ คือ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Added-valued of Industrial Output Growth) ในช่วงปี 2017-2018 ก็ค่อนข้างผันผวนไปในทิศทางที่ลดลง

ไทยต้องกังวลกับเศรษฐกิจจีน“ยุคโตต่ำลง”หรือไม่(จบ)

สำหรับตัวที่ห้า จะสะท้อนภาคต่างประเทศ คือ ดัชนีการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ (Growth of Trade) ที่เติบโตลดต่ำลงในช่วงปี 2017-2018 ทั้งด้านการส่งออกและการนำเข้าของจีน โดยเฉพาะการลดลงอย่างมากในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2018 ที่สหรัฐฯได้เริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีน

จึงชัดเจนว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ดัชนีเดียวที่ลดลง แต่จากดัชนีทั้ง 5 ตัว ทั้งจากภาคเศรษฐกิจในประเทศและภาคต่างประเทศที่โตต่ำลงมากเช่นนี้ ย่อมเป็นสัญญาณสะท้อนชัดเจนว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวครั้งนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ภาวะชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่น่ากังวลมากเช่นกัน คือ การพอกพูนเพิ่มขึ้นของการก่อหนี้จีน จนถึงขณะนี้ สัดส่วนของมูลค่าหนี้ของจีน (ทั้งหนี้ของภาครัฐและภาคเอกชนรวมกัน) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 250 ของจีดีพี (ตัวเลขอาจจะมากกว่านี้ หากรวมเอาข้อมูลสินเชื่อนอกระบบที่ไม่เป็นทางการของธนาคารเงา Shadow Banking เข้าไปด้วย)

ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของปัญหาการก่อหนี้ภาคครัวเรือนของจีนได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะการกู้ผ่านระบบสินเชื่อออนไลน์ที่นิยมกันมากขึ้น ทำให้คนจีนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายที่เรียกว่า Peer to Peer Lending (P2P) คือ การปล่อยกู้สินเชื่อแบบไม่มีสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง จึงทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ด้วยปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชัดเจน ทำให้นายกรัฐมนตรีจีน ท่านหลี่เค่อเฉียงต้องเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนชุดใหญ่ที่ได้ประกาศต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่น มาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของผู้ผลิตเหลือร้อยละ 13 (จากเดิมร้อยละ 16) และลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของอุตสาหกรรมก่อสร้างและขนส่งเหลือร้อยละ 9 (จากเดิมร้อยละ 10) และเพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ก็ได้ใช้มาตรการขยับเพิ่มเพดานรายได้ของ SMEs จีนที่จะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 100,000 หยวน (จากเดิม 30,000 หยวน) รวมทั้งการลดเงินประกันสังคมที่บริษัทจีนต้องลงขันจ่ายให้พนักงานในกองทุนสวัสดิการสังคม โดยจะลดลงเหลือร้อยละ 16 (จากอัตราปัจจุบันร้อยละ 19-20 ) พร้อมจะสั่งการให้ธนาคารขนาดใหญ่อัดฉีดปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดเล็ก เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30

พร้อมกันนี้ก็จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่ออัดฉีดการใช้จ่ายของรัฐในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับในระดับท้องถิ่น ก็จะขยับเพดานให้รัฐบาลท้องถิ่นจีนสามารถออก “พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเฉพาะกิจ” ได้มากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้กระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สุดท้ายขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้รัฐบาลจีนไม่ได้นิ่งนอนใจกับการจัดการปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และได้เข็นมาตรการขนานใหญ่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจีน แต่ ในยุคนี้ การจะจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจจีนที่อิงกลไกตลาดมากขึ้นได้กลายเป็น โจทย์ไม่ง่ายสำหรับผู้นำจีน เพราะหลายเรื่องไม่อาจจะสั่งการได้ดังเช่นในอดีต จึงต้องขอเอาใจช่วยให้จีนฝ่าฝันปัญหาที่หนักหน่วงครั้งนี้ไปให้ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนเดี้ยง เศรษฐกิจไทยเราก็คงจะลำบากตามไปด้วยนั่นเอง