มองต่างมุมว่าด้วยการแก่ตัว (1)
การแก่ตัวนั้นมองกันว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หมายความว่า หากไม่แก่ตัวจะเป็นเรื่องขัดธรรมชาติ บางคนบอกว่าไม่อยากมีอายุอยู่จนแก่ตัว
เพราะไม่ต้องการอยู่อย่างทรมาน กล่าวคือมีสมมติฐานว่าเมื่อแก่ตัวร่างกายจะเสื่อมลง ทำให้สุขภาพไม่ดี จึงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข
ผมเห็นด้วยว่าหากมีชีวิตอยู่แล้ว สุขภาพไม่ดี มีชีวิตอยู่อย่างไม่สมบูรณ์ ก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนักทั้งกับตัวเองและกับลูกหลานรอบข้างที่มีภาระเพิ่มขึ้นและต้องยอมรับว่าข้อมูลในช่วงที่ผ่านมานั้นก็ดูเหมือนว่าเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่นการทำการสำรวจที่อังกฤษ พบว่าในช่วงปี 2000-2002 กับ 2012-2014 นั้น ปรากฏว่าคุณภาพชีวิตของคนอังกฤษในวัยสูงอายุนั้นถดถอยลง เห็นได้จากตารางข้างล่าง
จะเห็นได้ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงอังกฤษมีอายุยืนยาวขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคืออายุคาดเฉลี่ยของผู้ชายเพิ่มขึ้นจาก 76 ปีเป็น 79.5 (เพิ่มขึ้น 3.5 ปี) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ค่อยดีคือช่วงเวลาที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ตอนสูงวันก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 15.4 ปีมาเป็น 16.1 ปี แปลว่าในช่วง 3.5 ปีที่อายุยืนขึ้นนั้น จะต้องมีชีวิตอยู่กับสภาวะที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ยาวนานเพิ่มขึ้นอีก 0.7 ปี (นานกว่า 8 เดือน) ในทำนองเดียวกันผู้หญิงก็อายุยืนมากขึ้นในช่วงเดียวกันอีก 2.5 ปี แต่ช่วงของอายุที่สุขภาพดีนั้น เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ปี แปลว่าส่วนที่อายุยืนยาวขึ้น 1 ปี เป็นช่วงที่มีชีวิตอยู่ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่สมบูรณ์
เมื่อปี 2015 จึงมีนักวิชาการด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ชื่อ Guy Brown เขียนบทความเรื่อง “Living too Long” โดยใจความว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มนุษย์อายุยืนมากขึ้นทศวรรษละ 2.2 ปี ในสหภาพยุโรป ดังนั้นหากแนวโน้มดังกล่าวดำเนินต่อไป มนุษย์ที่เกิดจากปัจจุบันเป็นต้นไปก็จะสามารถมีอายุยืนยาวได้นานถึง 100 ปี แต่จะไม่ได้เป็นการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพแต่อย่างใด โดยศ. Brown ยกตัวอย่างว่าคนอังกฤษอายุเกินกว่า 60 ปีในอังกฤษนั้นประมาณ 30% จะเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนเสียชีวิต (โรคสมองเสื่อมปัจจุบันไม่มียารักษาและบริษัทยาชั้นนำหลายบริษัท “ถอดใจ” ยกเลิกโครงการทดลองแสวงหายารักษาโรคสมองเสื่อมไปแล้ว) ที่สำคัญคือปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลที่ต้องนำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้สูงอายุในสหภาพยุโรปนั้นอยู่ที่ระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีก ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบตันและโรคสมองเสื่อม เห็นได้จากตัวเลขในตารางข้างล่าง
จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งนั้นสูงมากที่สุด คือ 9.50 ปอนด์ต่อประชากรอังกฤษทั้งเกาะ (66 ล้านคนใกล้เคียงกับประเทศไทย) แต่โรคที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมสูงที่สุด คือโรคสมองเสื่อมที่กระทบต่อเศรษฐกิจเท่ากับ 360 ปอนด์ต่อคนต่อปี เพราะจะต้องมีบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ มาดูแลผู้ป่วยตลอดเวลามากมาย ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุของการตายรวมกันเพียง 32% เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือการนำเอาโรคความแก่ (Aging) ไปคำนวณรวมอยู่ด้วยเพื่อให้เห็นว่าในปัจจุบันนั้นมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลเรื่องการสูงอายุน้อยมาก ทั้งๆ ที่การแก่ตัวลงและพิการ/เสียชีวิตนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด ที่สำคัญคือหากสามารถรักษา “โรคความแก่” ได้แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่า 5,000 ปอนด์ต่อปี
ศ. Brown มองว่าความพยายามที่จะทำให้อายุยืนมากไปกว่า 90 ปีนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะเมื่ออายุเกิน 90 ปี ก็จะมีโรคมารุมเร้าโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคสมองเสื่อม เช่นในยุโรปพบว่าคนอายุ 60-64 ปี เป็นโรคสมองเสื่อม 0.6% เพิ่มเป็น 3.5% เมื่ออายุ 70-74 ปี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 16% เมื่ออายุ 80-84 ปีและ 41% เมื่ออายุ 90-94 ปี ทั้งนี้ในกลุ่มคนอังกฤษที่อายุ 85 ปีหรือสูงกว่าประมาณ 80% มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ (disability) ดังนั้นกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุเกินกว่า 85 ปี จึงต้องได้รับความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ ศ. Brown สรุปว่า “the quality of life for someone over 90 years is on average very poor” สำหรับคนอังกฤษ
ดังนั้น ศ. Brown จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำวิจัยทางการแพทย์ส่วนใหญ่จากการรักษาโรคเป็นรายๆไป มาเป็นการวิจัยเพื่อหาสาเหตุของการแก่ตัวและการเสื่อมสภาพที่เกิดจากการแก่ตัว (causes of ageing and age-related morbidity) จนกระทั่งสามารถทำให้คนที่มีอายุยืน 85-90 ปีปราศจาก “โรคความแก่” แล้ว จึงจะค่อยกลับมาจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยรักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งผมเห็นด้วยว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่จะทำให้หลายคนรู้สึกว่าผิดธรรมชาติครับ