บัตรเครดิตสูญหาย: ใครรับผิดหนี้(โจรกรรม)?

บัตรเครดิตสูญหาย: ใครรับผิดหนี้(โจรกรรม)?

คนที่ใช้บัตรเครดิตคงไม่พึงประสงค์กับเหตุการณ์ที่กระเป๋าสตางค์หาย หรือบัตรเครดิตหายแล้วถูกนำไปรูดใช้จ่าย ข้อแนะนำส่วนใหญ่ของธนาคาร

มักบอกให้แจ้งอายัดโดยเร็วที่สุด เพื่อที่คุณจะไม่ต้องรับผิดชอบกับรายจ่ายภายหลังที่มีการอายัดบัตรแล้ว แต่ในสภาพความจริงนั้น ขโมยขโจรย่อมมีปฏิภาณไหวพริบเร็วกว่าเหยื่อ ฉะนั้น เหยื่อที่ถูกขโมยบัตรเครดิตไปใช้มักจะพบว่าภายในระยะเวลาไม่กี่นาทีหลังจากรู้ตัว ขโมยได้นำบัตรไปรูดซื้อสินค้าแล้วเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นหลายแสนบาท และอาจเป็นหลายล้าน(สำหรับบัตรชนิดวงเงิน infinity)

คำถามต่อข้อกฎหมายนี้คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายจากการรูดบัตรก่อนที่จะมีการอายัดบัตรเครดิต เพราะกฎหมายไม่มีข้อกำหมดชัดเจนในเรื่องนี้เลย มีแต่ข้อตกลงการใช้บัตรเครดิตระหว่างธนาคารผู้ออกบัตร (bank issuer) กับผู้ถือบัตร (card holder) ที่แจ้งไว้คร่าวๆ ว่า ธนาคารจะไม่รับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายก่อนที่จะมีการอายัดบัตร หมายความว่า ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบในยอดที่โจรซื้อของเอง เหตุเป็นเพราะผู้ถือบัตรแจ้งอายัดบัตรช้าเกินไป ธนาคารผู้ออกบัตรจึงผลักความรับผิดชอบไปให้ผู้ถือบัตริรับผิดแทน ทั้งๆ ที่บัตรเครดิตบางใบมีวงเงินคุ้มครองประกันภัย การผลักความรับผิดชอบของธนาคารเช่นนั้นถูกต้องบนข้อกฎหมายจริงแล้วหรือ บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ถึงความรับผิดในหนี้จากการโจรกรรมบัตรเครดิตดังกล่าว

สัญญาการใช้บัตรเครดิตถือเป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสามฝ่ายด้วยกัน คือธนาคารผู้ออกบัตร ลูกค้าผู้ถือบัตรและร้านค้า โดยธนาคารจะออกบัตรเครดิตให้แก่บุคคลที่ธนาคารได้ไว้วางใจและมีสถานะทางการเงินหรือเครดิตที่ดีเท่านั้น การเป็นผู้ถือบัตร ย่อมแสดงให้เห็นถึงว่าเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง ที่ธนาคารอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้เท่านั้น

ผู้ถือบัตรจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปรูดแทนตนเองไม่ได้ ธนาคารจึงมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ทำบัตรเสริมได้ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้ถือบัตรเสริม ก็ยังเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง” ที่ธนาคารต้องอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้ เพราะธนาคารผู้ออกบัตรได้จำกัดสิทธิได้เพียงสองกรณีเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลที่ไม่ใช่คู่สัญญากับธนาคารเจ้าของบัตร เช่นโจรหรือขโมย จะเข้ามามีสิทธิใช้หรือทำธุรกรรมในบัตรใบนั้นได้

คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมผู้ถือบัตร จะต้องรับผิดแทนโจรหรือขโมยในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการโจรกรรม บนข้อกฎหมายอะไร หากเราวิเคราะห์ข้อกฎหมายตรงนี้ได้ ก็จะทราบว่าหนี้ในยอดค่าใช้จ่ายดังกล่าว ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่

การใช้บัตรเครดิตอธิบายได้ด้วยกฎหมายนิติกรรมสัญญาและเรื่องหนี้ โดยผู้ถือบัตรมีหนี้และความรับผิดในยอดเงินที่ผู้ถือบัตรได้ใช้จ่ายไปจริงเท่านั้น ธนาคารและร้านค้าย่อมมีหน้าที่พึงระมัดระวังให้รอบคอบว่าผู้รูดบัตรเครดิตนั้น เป็นผู้รับอนุญาตให้ถือบัตรโดยแท้จริงหรือไม่ เช่น ตรวจสอบลายมือชื่อหลังบัตร ตรวจสอบหน้าจากบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจยุคดิจิตอลทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ละเลยในการตรวจสอบสถานะบุคคลดังกล่าว ส่วนธนาคารผู้ออกบัตรมักจะไม่ตรวจสอบสลิปใบเสร็จที่มีลายมือชื่อว่าตรงกับลายเซ็นของผู้ถือบัตรตัวจริงที่ให้ไว้กับธนาคารด้วยหรือไม่ ในทางปฏิบัติ ภาวะการหละหลวมดังกล่าวกลับถูกผลักให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคหรือเจ้าของบัตรผู้ทำบัตรสูญหาย สิ่งนี้ถูกต้องแล้วหรือ?

หนี้บัตรเครดิตเกิดขึ้นเมื่อมีการรูดบัตรเครดิตและเซ็นชื่อลงในสลิป และต้องเป็นการเซ็นชื่อที่ถูกต้องตรงกับตัวบุคคลที่ธนาคารอนุญาตให้ใช้บัตรได้เท่านั้น เพราะหนี้บัตรดังกล่าวเป็น “หนี้เฉพาะตัวบุคคล” บุคคลอื่นที่มิใช่เจ้าของบัตรจะเข้ามาสวมสิทธิเป็นหนี้หรือใช้บัตรแทนกันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น พ่อเอาบัตรเครดิตของตนให้ลูกไปใช้แทน ย่อมไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นการปลอมลายมือชื่อบิดาลงในสลิปซึ่งเป็นเอกสารสิทธิหรือสัญญา และเป็นความผิดทางอาญาด้วย แต่เนื่องจากบิดาซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเอาความกับบุตร จึงไม่มีเรื่องราวขึ้นสู่ศาลให้เห็นกัน เหตุผลที่เป็นหนี้เฉพาะบุคคลที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ธนาคารผู้ออกบัตรไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้บัตรแทนผู้ถือบัตรได้ในทุกกรณี ธนาคารจึงทำได้แค่เพียงการออกบัตรเสริมให้ใช้แทน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว โจรจะเข้ามาสวมสิทธิหรือมีสถานะตามสัญญาเพื่อรูดบัตรเครดิตแทนเราได้อย่างไร?

เมื่อมีการโจรกรรมบัตรเครดิตขึ้นมา ย่อมต้องถือว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น (criminal activities) บัตรเครดิตดังกล่าวจะถูกนำไปใช้โดยบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นโจร ขโมยหรือบุตรของเจ้าของบัตร ย่อมถือว่าเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะหนี้อันเกิดจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะตามกฎหมาย ฉะนั้น การที่ขโมยนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือรถยนต์ จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการ สวมรอยของอาชญากร จึงมิใช่หนี้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับหนี้การพนัน และหนี้การค้ายาเสพติด ที่มิอาจฟ้องหรือชำระความกันใดๆ ได้เลยทางกฎหมาย

ในทางปฏิบัติ การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนมักทำสำนวนมุ่งประเด็นเป็นเรื่องของบัตรเครดิตหายและตั้งรูปคดีให้เจ้าของบัตรเป็นผู้เสียหาย การดำเนินคดีจึงผิดประเด็น ไม่คืบหน้า และทำให้ตำรวจไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าสินค้าแบรนเนมของกลางที่ยึดมาได้จากคนร้ายควรตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด

เรื่องนี้จึงควรทำความเข้าใจใหม่ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะแท้จริงแล้ว บัตรเครดิตนั้น “เป็นกรรมสิทธิ์ของ ธนาคารเจ้าของบัตรซึ่งได้อนุญาตให้ผู้ถือยืมบัตรภายใต้อายุการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะธนาคารเป็นผู้มีอำนาจก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนและระงับซึ่งกรรมสิทธิ์ในการใช้บัตรได้อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อเข้าใจจุดนี้แล้วจะทราบได้ว่าที่ถูกต้องนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตั้งรูปคดีให้ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตและร้านค้าที่ถูกโจรกรรมเป็นผู้เสียหายร่วมกันในความผิดฐานฉ้อโกงสินค้าในร้านค้าผ่านบัตรเครดิต เพราะการโจรกรรมได้เกิดขึ้นจากการที่โจรสวมรอยหรือหลอกลวงให้ร้านค้าและธนาคารเข้าใจผิดในสถานะที่ถูกต้องของตัวบุคคลและลายเซ็นของผู้ถือบัตรเครดิต เมื่อการดำเนินคดีได้ถูกต้องตามเช่นนี้แล้ว ธนาคารเจ้าของบัตรและร้านค้าจะต้องเป็นโจทก์ร่วมหรือผู้เสียหายร่วมกันในคดีฉ้อโกงบัตรเครดิต ส่วนผู้ถือบัตรนั้นมีฐานะเป็นเพียงพยานในคดีเท่านั้น เพราะว่าผู้ถือบัตรมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่มีการโจรกรรมแต่อย่างใดเลย ดังนั้น เมื่อการดำเนินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ร้านค้ามีหน้าที่จะต้องคืนเงินตามสลิปบัตรเครดิตที่มีการโจรกรรมบัตรเครดิตคืนกลับให้ธนาคารเจ้าของบัตรในฐานะลาภมิควรได้ ส่วนสินค้าแบรนเนมของกลางที่ถูกโจรกรรม พนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนของกลางให้กับร้านค้าที่ถูกฉ้อโกงซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่สถานะเดิม

อย่างไรก็ดี การที่ผู้ถือบัตรเครดิตโทรแจ้งอายัดบัตรให้ธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อดำเนินการออกบัตรใบใหม่กับตนเองแทนบัตรใบเดิมที่หายไปนั้น เป็นเพียงการขอระงับการใช้บัตรใบเดิมและเพื่อขอออกบัตรใหม่เพื่อความสะดวกในการใช้จ่ายทางธุรกิจเท่านั้น การแจ้งอายัดบัตรเช่นนั้น มิได้ทำให้ผู้ถือบัตรตกเป็นผู้เสียหายตามนัยประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการแจ้งเตือนเพื่อให้ธนาคารผู้ออกบัตรหรือธนาคารเจ้าของบัตรที่แท้จริงได้ทราบว่า บัตรเครดิตของธนาคารของผู้ออกบัตรใบนั้นอาจจะกำลังมีผู้โจรกรรมในอนาคตและ ธนาคารกำลังจะตกเป็นผู้เสียหายที่จะต้องไปใช้สิทธิแจ้งความตามกฎหมายอาญาร่วมกับร้านค้าที่กำลังจะถูกรูดซื้อสินค้าไป เมื่อเข้าใจดังนี้แล้วจึงสามารถสรุปชี้ชัดได้ว่า ในการโจรกรรมบัตรเครดิตนั้น ผู้ถือบัตรเครดิตที่ทำบัตรหาย มิได้ก่อให้เกิดหนี้หรือธุรกรรมใดๆ ที่ตนจะมีส่วนต้องรับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายภายใต้หลักกฎหมายเรื่องหนี้และนิติกรรมสัญญาแต่อย่างใดเลย

 

โดย... 

ปรวิชย์ มะกรวัฒนะ

อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา