'พิพิธภัณฑ์' แหล่งความรู้ทางเลือกนอกห้องเรียน

'พิพิธภัณฑ์' แหล่งความรู้ทางเลือกนอกห้องเรียน

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าการศึกษาเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเท่านั้น

เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างดีในสภาวะแวดล้อมนอกห้องเรียน เช่น การออกไปทัศนศึกษา ชมธรรมชาติ นิทรรศการศิลปะ หรือแม้กระทั่งการกีฬา

ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ มีความพยายามทำให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย มีความสนุกสนาน และไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมเรียกว่า “สังคมอุดมปัญญา” อาทิ พิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์หรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่นอกจะให้เข้าชมฟรีแล้วยังมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายเพื่อดึงดูดใจให้เยาวชนเข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้

วันนี้ผมอยากจะเล่าถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวชนในแหล่งความรู้ทางเลือกอย่าง พิพิธภัณฑ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรหรือที่เราเรียกกันอย่างสั้นว่า ประเทศอังกฤษนั้น ถือเป็นแม่แบบของสังคมอุดมปัญญาอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกอย่าง มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนหลากหลายรูปแบบ และที่สำคัญแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ไม่ได้กระจุกตัวแต่เพียงในเมืองใหญ่แต่กระจายไปยังเมืองรองและเมืองเล็กต่าง ๆ ทุกทั่วหัวระแหง

ประมาณกันว่ามีพิพิธภัณฑ์กว่า 2,500 แห่งในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องของขนาดและของที่จัดแสดงในนั้น พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กระดับห้องแถวธรรมดา มักอยู่ในเมืองเล็ก ๆ บอกเล่าเรื่องราวจำเพาะเจาะจงหรือเป็นที่เก็บของสะสมสิ่งของเฉพาะ เช่น พิพิธภัณฑ์ของเล่น พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา

ขณะที่พิพิธภัณฑ์ระดับชาติมักจะตั้งอยู่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ที่สำคัญ และมีขนาดใหญ่โตระดับพระราชวังหรือป้อมปราการ เช่น พิพิธภัณฑ์หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London) ที่เก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษ และยังเป็นคุกและที่ประหารอันโด่งดัง จนกระทั่งเป็นที่มาของเรื่องราวลึกลับขนหัวลุก ซึ่งก็ถือเป็นอีกจุดขายที่ทำให้เยาวชนสนใจที่จะเข้ามาชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษมีการแยกประเภทหมวดหมู่ เพื่อเน้นความจำเพาะเจาะจงในผลงานและนิทรรศการที่ชัดเจน อาทิ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและชีววิทยา (London Museum of Natural History) ซึ่งเน้นเกี่ยวกับธรรมชาติและวิวัฒนการของสิ่งมีชีวิต พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งเมืองยอร์ค ซึ่งถือเป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญตั้งแต่ยุควิคตอเรีย

พิพิธภัณฑ์บางแห่งบอกเล่าเรื่องราวความภาคภูมิใจของพื้นถิ่นของเมืองและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสำคัญของเมืองนั้น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการปฎิวัติอุตสาหกรรมก็บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นแรงงานและเครื่องจักรที่สำคัญในยุคบุคเบิกอุตสาหกรรม พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรือและการเดินเรือของเมืองอเบอร์ดีน ซึ่งถือเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนเหนือของประเทศ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณวัตถุที่มีมากมายในอังกฤษนั้นล้วนแต่เก็บสมบัติล้ำค่าของโลกไว้ทั้งสิ้น อาทิ บริติชมิวเซียม ที่เก็บรวบรวมศิลปะของอารยธรรมโบราณอย่างกรีก โรมัน อียิปต์ ในระดับที่เรียกได้ว่ายกมาทั้งวิหารกันเลยทีเดียว พิพิธภัณฑ์ภาพเขียนแห่งชาติ (The National Gallery) เก็บรวบรวมภาพวาดมูลค่าประเมินไม่ได้มากมายหลายภาพของศิลปินชื่อดังอย่าง ไมเคิลแองเจลโล โมเนต์  และแวนโก๊ะ เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อให้เยาวชนเข้าใจประวัติศาสตร์ทั้งด้านมืดและสว่าง และเชื่อมโยงพื้นถิ่นสู่โลกกว้าง ช่วยเยาวชนให้เปิดโลกทัศน์ เข้าใจผู้อื่นและมีมุมมองที่เปิดกว้าง พิพิธภัณฑ์ V&A ซึ่งเป็นอักษรย่อของพระนางวิคตอเรียและพระสวามี ได้ชื่อว่าเก็บงานศิลปะที่หลากหลายและล้ำค่าจากทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม เช่น พระพุทธรูปโบราณจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปปั้นหินอ่อนจากอิตาลี หรือแม้กระทั่งรัดพระองค์ (เข็มขัด)ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระทายาทได้ให้หยิบยืมประดับนิทรรศการเป็นต้น

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจมากที่สุดไม่ได้อยู่ที่วัตถุล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แค่คือผู้ชมทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่จากทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงวัตถุที่ถูกเก็บรักษาและนำเสนออย่างดีได้อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ทั้งเกี่ยวกับตัวเองและเพื่อนร่วมโลก จึงไม่น่าแปลกใจว่าพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษนั้นมักจะแน่นขนัดในช่วงวันสุดสัปดาห์เพราะพ่อแม่ก็พาลูกมาเที่ยว คู่รักก็มาเดทกัน นักเรียนศิลปะมาวาดรูปที่พิพิธภัณฑ์ เรียกได้ว่าพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมอุดมปัญญา

ฉบับหน้าผมจะมาเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์สำคัญในยุโรปและอเมริกาเพื่อท่านผู้อ่านได้เปรียบเทียบประมวลว่า อยากจะพาบุตรหลานไปทัศนศึกษาที่ไหนดี และจะเล่าให้ฟังถึงวิทยาการที่ล้ำเลิศและเครื่องมือของยุคสมัยปัจจุบันที่จะช่วยประหยัดเงินประหยัดเวลาแต่ได้สัมผัสงานศิลปะที่มีค่าอย่างใกล้ชิด