หงส์ดำ-แรดเทา-Homo sapiens
สัตว์ 2 ชนิดกำลังเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในโลกสมัยใหม่อย่างชนิดที่หากไม่ต้องการตกยุคต้องคุ้นเคยกับมัน
หงส์ดำ(Black Swan)กับแรดสีเทา(Gray Rhino) คือสัตว์ 2 ชนิดที่ดังขนาดไหนจนต้องทำความรู้จัก
ขอเริ่มต้นก่อนที่สัตว์อีกชนิดคือช้าง ในภาษาอังกฤษมีสำนวนเปรียบเทียบอันหนึ่งที่ได้ยินกันมายาวนานอาจถึง 200 ปีด้วยซ้ำ นั่นก็คือ “an elephant in the room” ซึ่งหมายถึงการมีปัญหาหรือการเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากที่เห็นกันชัดเจนแต่ผู้คนไม่ต้องการพูดถึง บางครั้งก็กินความหมายไปถึงการมีอยู่ของปัญหาหรือความเสี่ยงแต่ไม่สังเกตเห็น
จากช้างก็นำไปสู่หงส์ดำ ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยที่มาจากหนังสือดังของโลกชื่อ “The Black Swan” (2007) เขียนโดยศาสตราจารย์ทางสถิติและความเสี่ยงชื่อ Nassim Nicholas Taleb
มนุษย์รู้จักแต่หงส์ขาวมาเป็นเวลานับพันปี ตั้งแต่สมัยโรมัน แต่ไม่เคยพานพบหงส์ดำเลย จนกระทั่งนักเดินเรือชื่อ Willem de Vlamingh พบที่ Swan River ในรัฐออสเตรเลียตะวันตกในปีค.ศ. 1691 การไม่พบหงส์ดำมาก่อน มิได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่ในโลก มันมีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยคาดมาก่อนว่าจะพบมัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง อย่างไม่คาดคิดเลยแม้แต่น้อยเพราะมีความเป็นไปได้ต่ำมาก
วิกฤตเศรษฐกิจแผ่นดินไหวครั้งใหญ่การระบาดของโลกการล่มสลายของประเทศ ฯลฯ คือตัวอย่างของ Black Swan สิ่งที่เน้นคือการมองไม่เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเพราะมีความเป็นไปได้ต่ำมาก แต่มิใช่หมายความว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ คนทั่วไปมักคิดว่าธนาคารหรือบริษัทใหญ่ขนาดมหึมาจะไม่มีวันล้มได้ ประเทศที่กินดีอยู่ดียากที่จะผันผวนในระยะเวลาสั้นไปอยู่ในสภาพแร้นแค้น มหาเศรษฐีเป็นยาจกข้ามคืนไม่ได้ฯลฯทั้งหมดเหล่านี้เราเห็นกันมามากแล้ว
Black Swan ดังมาหลายปีจนถึงงานประชุมของ World Economic Forum ในปี2013 นักวิเคราะห์นโยบายและนักเขียนชาวอเมริกันวัย 50 ปี ก็ปล่อยสัตว์อีกตัวหนึ่งออกมาอาละวาด นั่นก็คือแรดสีเทา(Gray Rhino)และต่อมาเขียนเป็นหนังสือชื่อThe Gray Rhino (2016) (Grayคือการสะกดแบบอเมริกัน อังกฤษคือGrey)
การเปรียบเปรยโดยใช้แรดสีเทาก็เพราะตำราบอกว่าแรดมี 2 สีคือขาว(เผือก)และดำ แต่ในความเป็นจริงแล้วแรดทั้งหมดดูคล้ายกันเป็นสีเทาซึ่งตรงกับสิ่งที่เธอต้องการสื่อนั่นก็คือ Gray Rhino เปรียบเสมือนการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หรือโดยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นสูงมาก เพียงแต่ผู้รับผิดชอบแยกแยะไม่ออกมองไม่เห็นอาการหรือสัญญาณหรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ
อุปมาเหมือนกับแรดหนัก2ตันที่วิ่งเข้ามาด้วยความเร็ว60กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยผู้ตั้งรับไม่สังเกตเห็นรายละเอียดความใส่ใจถูกเบี่ยงเบนเพราะปัญหาภายในฯลฯกว่าจะรู้ตัวก็ถูกชนสาหัส หรือตายต้องมาแก้ไขปัญหาภายหลังชนิด“วัวหายแล้วล้อมคอก” หนทางที่ถูกต้องคือมองหาและตรวจพิจารณาสัญญาณและแก้ไขก่อนที่มันจะวิ่งเข้าใส่
“หงส์ดำ”กับ“แรดเทา”เหมือนและต่างกันตรงที่ทั้ง 2 ก่อให้เกิดผลกระทบได้อย่างกว้างขวางเหมือนกัน แต่ “หงส์ดำ” นั้นมีโอกาสเกิดได้ต่ำมากและเราไม่สามารถทำอะไรกับมันก่อนได้ ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะ“ผู้ต้องยอมรับ” แต่ “แรดเทา” นั้นมีโอกาสในการเกิดสูงมากและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
“หงส์ดำ”และ“แรดเทา”ดังมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กล่าวในงานประชุมสำคัญเมื่อต้นปี 2019 ว่าจีนต้องพยายามเตรียมการรับมือกับ “หงส์ดำ” และตรวจจับสัญญาณจาก “แรดเทา” ให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการป้องกัน
สิ่งที่เขาหมายถึงก็คือ ปัญหาหนี้สินท่วมตัวของบริษัทและเมืองต่างๆของจีนในปัจจุบัน การเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “สงคราม”ที่ต้องต่อสู้ในเรื่องการค้าการเมืองเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งอาจมีฝูง“แรดเทา” แฝงอยู่กับ" "หงส์ดำ"หลายตัวก็เป็นได้
แนวคิด Gray Rhino ประยุกต์ได้กับปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ อาหาร พลังงาน ปัญหาโลกร้อนปัญหา“โลกสีเทา” (“คนเทา”สู้กับ “แรดเทา”) อีกทั้งปัญหาในระดับองค์กรเอกชน(บริษัทกำลังจะขาดสภาพคล่อง )ครอบครัวและบุคคล ในเรื่องความสัมพันธ์(“เขากำลังคิดจะเลิกกับเรา?” “พ่อแม่กำลังทุกข์เพราะพฤติกรรมของเรา”) เรื่องการใช้จ่ายเงิน (ใช้บัตรเครดิตรูปแพะชนแกะ) เรื่องของสุขภาพ (ผลการตรวจเลือดความแข็งแรงของร่างกาย) เรื่องการงาน(“เขากำลังจะบีบเราออก”)
คนจีนกำลังนิยมหนังสือเล่มนี้กันครั้งใหญ่(ฟังดูคุ้นๆกับเรื่อง Animal Farm ซึ่งคนในประเทศนี้ชอบฟังคำบอกเล่าแต่ไม่อ่าน จึงวิจารณ์กันอย่างผิดๆ ประเด็น คือ การล้อเลียนประชดประชันระบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์) หลังจากรู้จักสัตว์ 2 ประเภทจากผู้นำ
สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของการไม่ให้ถูก “แรดเทา” วิ่งชนก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า มนุษย์มีเหตุมีผลน้อยกว่าที่เคยคิดกันมาก มนุษย์เป็นปุถุชนจึงถูกครอบงำด้วย EGO มีความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกต้องโดยใช้สัญชาติญาณและประสบการณ์ในการตัดสินใจมากกว่าการใช้ข้อมูลความเอนเอียงของการตัดสินใจอันเนื่องมาจากความชอบเป็นส่วนตัว การไม่รับฟังคนอื่นมากเท่าที่ควร ฯลฯ ดังนั้นจึงละเลยอาการและสัญญาณที่ออกมาให้เห็นตลอดเวลา(เห็นควันลอยออกมา แต่เชื่อมั่นว่าเป็นควันบุหรี่แน่นอนเพราะเคยเห็นควันแบบนี้มาก่อนแต่คราวนี้ไฟไหม้จริง) กอปกับมันเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นเพราะมันไม่เคยเกิดมาก่อน (ปรากฏการณ์ “หงส์ดำ”อาละวาด)
Gray Rhinoเตือนใจให้เราระแวดระวังก่อนที่ภัยจะเกิด Black Swanเตือนให้เราตระหนักว่าสิ่งที่คิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และ“an elephant in the room”เตือนให้ไม่ละเลยการพิจารณาปัญหาที่มีอยู่จริงในโลกที่ซับซ้อนโยงใยและผันผวนได้ง่าย สัตว์ทั้งสามถือได้ว่าทำหน้าที่ซึ่งมีประโยชน์ คำถามก็คือแล้วHomo sapiensหรือพวกเราทำหน้าที่ของตนเองกันแล้วหรือยัง