การทำผิดกฎจราจร: ปัญหาใหญ่อุบัติเหตุ

การทำผิดกฎจราจร: ปัญหาใหญ่อุบัติเหตุ

ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาช่วงเทศกาลต่างๆ เห็นได้จากสถิติ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่

ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561- วันที่ 2 ม.ค. 2562 เกิดอุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 เม.ย. 2562 เกิดอุบัติเหตุ 2,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 297 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,807 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ 40.39% ขับรถเร็วเกินกำหนด 28.30% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 79.64% รถปิกอัพ 6.95% ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 64.89% บนถนนกรมทางหลวง 39.30% ถนนใน อบต. หมู่บ้าน 34.90% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น.

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ตัวเลขอุบัติเหตุจะมาพร้อมกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนสูงขึ้นจนน่าตกใจ ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและหลายหน่วยงานต่างสรรหามาตรการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย และรณรงค์ป้องกันเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนท้องถนน เช่น ให้เพิ่มความถี่ในการจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก เพื่อชะลอความเร็วรถและป้องกันการแซงในระยะกระชั้นชิด รวมถึงเข้มข้นการดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งทางโค้ง ทางลาดชันที่มักเกิดอุบัติเหตุเบรกแตก และเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน รวมถึงการเตือนประชาชนให้ร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด “เร็ว เมา โทร ง่วง ไม่ขับ” เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

ล่าสุด การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมากขึ้นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการจัดระเบียบการจราจรทางบกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์แก่ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งการตราพ.ร.บ. นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จากที่ปัจจุบัน อุบัติเหตุทางถนนมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ขับขี่ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกประกอบกับพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และกลไกในการออกใบสั่งสำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับขี่ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจรทางบก

เนื้อหากฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมจะเกี่ยวข้องกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น คือ จัดให้มีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับประวัติและการกระทำความผิดผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องในมาตรา 4/1 ผู้ขับขี่แสดงใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ ให้ถือว่าผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวตามมาตรา 31/1 สามารถชำระค่าปรับโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือวิธีการอื่น โดยผ่านธนาคารหรือหน่วยรับบริการรับชำระเงินตามมาตรา 141 และจัดให้มีระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับอนุญาตขับขี่ มาตรา 142/1

แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพให้ทันยุคทันสมัยมากยิ่งขึ้นก็ตาม หากแต่ผู้ขับขี่ยังคงมีสภาพร่างกายไม่พร้อมในขณะขับรถ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีสภาพมึนเมาขณะขับขี่ หรือขับรถโดยความประมาท เช่น การก้มไปหยิบจับสิ่งใด การเล่นโทรศัพท์ขณะขับขี่ การขับรถเร็ว การไม่เคารพกฎจราจร การขับฝ่าสัญญาณไฟแดงด้วยความที่คิดว่าเพื่อความรวดเร็วอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ การเกิดอุบัติเหตุการบาดเจ็บและความสูญเสียก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิมและอาจเพิ่มมากขึ้นทุกปีหากขาดความใส่ใจเพื่อนร่วมขับขี่เดินทางบนท้องถนน

ผู้เขียนเห็นว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนควรจะ 1) ร่วมมือกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกคนทราบกฎระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษ ในการฝ่าฝืนกฎต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกและเคารพกฎระเบียบ 2) การปรับเพิ่มบทลงโทษหรือค่าปรับยังให้เหมาะสม หากค่าปรับต่ำเกินไปทำให้มีการฝ่าฝืนกฎจราจรอยู่เสมอ 3) การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายที่มิได้กำหนดอายุสูงสุดของผู้ขับขี่ รวมทั้งการศึกษาขั้นต่ำของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะสอบผ่านและได้รับใบอนุญาตขับขี่มาแล้วก็อาจทำผิดกฎจราจรและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และ 4) การเพิ่มการกวดขัน จับกุม หรือความจริงจังหรือเข้มงวดในการพิจารณาดำเนินคดีหรือจับกุม ผู้กระทำผิด ที่เป็นสาเหตุให้ขับรถหรือใช้รถใช้ถนนอย่างเสรี ตามอำเภอใจ ซึ่งมักทำให้เกิดอุบัติเหตุ

กล่าวโดยสรุปผู้ขับขี่บนท้องถนนควรตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัวผู้โดยสาร และผู้ร่วมใช้ทางมาเป็นอันดับแรกโดยหมั่นดูแลทั้งตนเองและตรวจสภาพรถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งติดตามกฎระเบียบใหม่ ๆ และเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ขับรถด้วยความระมัดระวังไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองหรือประมาทอันจะทำให้ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและความสูญเสียต่อตนเอง ครอบครัวและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

 โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์