ไทยติดอันดับโลกด้านความยั่งยืน

ไทยติดอันดับโลกด้านความยั่งยืน

จากความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในข้อมูลกิจการที่ต้องการมากกว่าตัวเลขผลประกอบการ ครอบคลุมถึงการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน

ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016) เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 13,893 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 54,776 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 32,700 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายงานที่เปิดเผยผ่านฐานข้อมูล SDD ทั้งหมด และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 635 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2562)

โดยข้อมูลในหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 – Country Tracker จากเดิมประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพียง 41 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2558 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และมาเป็นจำนวน 120 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2560 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย มีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก

ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ในประเทศไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด อยู่ที่ 237 แห่ง ขณะที่มาเลเซียมี 156 แห่ง อินโดนีเซีย 155 แห่ง สิงคโปร์ 151 แห่ง ตามมาด้วย เวียดนาม 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 65 แห่ง กัมพูชา 16 แห่ง และเมียนมา 3 แห่ง ตามลำดับ

สิ่งที่ท้าทายจากนี้ไป คือ การรักษาระดับความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค การรวบรวมและเพิ่มจำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่สำคัญ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับส่วนรวมในนามของประเทศไทยที่มีชื่อติดอันดับในเวทีโลก และในระดับองค์กรที่สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกรอบการรายงานที่สากลยอมรับควบคู่ไปพร้อมกัน