การจัดการขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

การจัดการขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ได้รับรองเอกสารสำคัญหลายฉบับ ในจำนวนนั้น

คือ ปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของอาเซียนเกี่ยวกับปัญหาปริมาณขยะทะเลที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาค

องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ระดมอาสาสมัครเพื่อช่วยกันทำความสะอาดชายฝั่งทะเลต่างๆ ทั่วโลก ตีพิมพ์รายงาน “Stemming the Tide: Land-based strategies for a plastic free ocean” ที่จัดทำร่วมกับ McKinsey Center for Business and Environment ในปี 2558 ระบุว่า หลายประเทศในอาเซียนเป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ขยะทะเลทั่วโลกมาจาก 2 แหล่ง โดยกว่าร้อยละ 20 เป็นขยะที่รั่วไหลลงสู่ทะเลจากการทำประมง และกว่า 80% จากภาคพื้น จำนวนขยะมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 8 ล้านตันต่อปี มาจากห้าประเทศเท่านั้น ได้แก่ จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ขยะทะเลจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือกว่า 250 ตันภายในปี 2568

ในกรณีของฟิลิปปินส์ ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastics) และระบบการกำจัดขยะที่ไม่เหมาะสม นาย Jose Angelito M. Palma ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประเทศฟิลิปปินส์ (WWF-Philippines) อธิบายว่าปัญหาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของประชาชน ด้วยความยากจนทำให้ผู้คนนิยมซื้อข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กจำนวนมากและมีราคาถูก หรือที่เรียกว่า “Sachet Economies” อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก รวมถึงซองแบบใช้ครั้งเดียวของแชมพู ยาสีฟัน ครีม สบู่ น้ำยาซักผ้า หรือแม้กระทั่งอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของขยะจำนวนมาก ประกอบกับการกำจัดของเสียที่ไม่เหมาะสมยังทำให้ขยะรั่วไหลลงสู่น่านน้ำ จากรายงานของ WWF ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการจัดการขยะแห่งชาติ และธนาคารโลก พบว่า ฟิลิปปินส์มีการรั่วไหลของขยะลงสู่ทะเลมากถึง 74% โดยส่วนใหญ่มาจากการกำจัดขยะของภาคเอกชนที่ลักลอบทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำเพื่อลดค่าใช้จ่ายแทนการนำขยะไปกำจัดในสถานที่ที่เหมาะสม

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียนต่างรับรู้ถึงประเด็นปัญหาขยะทะเล และพยายามสร้างมาตรการที่จะบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม อาทิประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ของฟิลิปปินส์ออกมาตรการปิดชายฝั่งของอ่าวมะนิลาเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อเก็บขยะทะเลตามโครงการฟื้นฟูชายหาดของรัฐบาล ในขณะเดียวกันรัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตน้ำจากแม่น้ำจิทาลุม (Citarum) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่สกปรกที่สุดในโลกจากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชนที่มีประชากรแออัดกว่า 5 ล้านคน ให้สามารถเป็นน้ำที่ดื่มได้ภายในปี 2568 ช่วงปีผ่านมาเวียดนามริ่เริ่มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Partnerships in Environmental Management for the Seas of East Asia: PEMSEA) และจัดทำความร่วมมือระดับโลกในการลดขยะพลาสติก

ส่วนรัฐบาลไทย นอกจากการผลักดันให้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯแล้ว ยังกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ การจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญ การออกมาตรการลดปริมาณขยะที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การวิจัยและสำรวจข้อมูลขยะทะเลทั้งในด้านสาเหตุและผลกระทบ การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลขยะทะเลตามมาตรฐานสากลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการ รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุก เช่น โครงการเก็บขยะชายหาดสากล และโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ เป็นต้น

มลพิษจากขยะทะเลเป็นปัญหาข้ามพรมแดน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขปัญหาโดยปราศจากความร่วมมือในระดับภูมิภาคตลอดจนจำเป็นต้องมีนโยบายและกฎหมายภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าขยะของประเทศหนึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค ดังนั้น การรับรองเอกสารทั้งปฏิญญากรุงเทพฯ และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล รวมถึงการหยิบยกประเด็นปัญหาขยะทะเลของอาเซียน แม้จะถือเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของอาเซียน อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าอาเซียนจะผลักดันข้อริเริ่มให้เป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่อง และยั่งยืนได้อย่างไรรวมถึงการติดตามบทบาทของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป ว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้อย่างไร ในขณะที่เวียดนามก็อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ ยังมองว่าการประกาศปฏิญญาของอาเซียนยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และอาเซียนยังขาดแผนการที่เป็นรูปธรรมที่จะลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น หลอด รวมไปถึงการออกมาตรการขั้นเด็ดขาดในการลงโทษบริษัทหรือโรงงานที่ลักลอบทิ้งขยะลงสู่ทะเล

โดย... 

ญาณิศา พลายชุม

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)