สภาวะการศึกษาไทยปี 2561
ภาครัฐยังคงใช้งบการศึกษาอยู่ในระดับสูง แม้จำนวนนักเรียน นักศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษาเริ่มลดลงบ้างในบางระดับ (เช่น อาชีวศึกษา)
เนื่องจากประชากรวัยเรียนลดลง การจัดการศึกษาคงเป็นไปตามแบบแผนเดิมๆ เช่น จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าองค์การปกครองท้องถิ่นและภาคเอกชน มีสัดส่วนนักเรียนสายสามัญมากกว่านักเรียนอาชีวศึกษาในระดับ 65:35 สัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ไม่ได้เรียนและหรือออกกลางคัน ก่อนถึงชั้นมัธยมปลายคงมีสัดส่วนสูง ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรและระดับการศึกษาของแรงงานไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (แรงงานมีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า 45% ของแรงงานทั้งหมด) ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนจากการประเมินผลทั้งภายในประเทศ และเปรียบเทียบระหว่างต่างประเทศ (PISA) อยู่ในเกณฑ์ต่ำ คุณภาพโรงเรียนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ที่มีเศรษฐกิจดี กับโรงเรียนในอำเภอรอบนอกที่จนกว่ายังคงแตกต่างกันสูง การแก้ปัญหาของรัฐบาลทำได้จำกัด มีลักษณะตามแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ แก้ได้เฉพาะบางประเด็นบางจุด
จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบใน 3 เรื่องหลักคือ 1.ผู้บริหาร ครูอาจารย์ 2.หลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล และ 3.โครงสร้างการบริหารจัดการ เรื่องครูสำคัญที่สุด ควรคัดเลือกคนที่เก่งมาเรียนครูจำนวนน้อยลง ปฏิรูปคณะครุศาสตร์และครุศาสตร์ให้เหลือเฉพาะที่มีคุณภาพสูงจริงๆ ปฏิรูปหลักสูตร การสอน การวัดผล ให้ทั้งครูและผุ้เรียนต้องรักการอ่าน ใฝ่รู้ เรียนรู้ด้วยตนเอง คิดวิเคราะห์เป็น สำหรับครูเก่าต้องประเมินผลใหม่ เช่น จัดให้ครูระดับประถม-มัธยมทดสอบวิชาพื้นฐาน จิตวิทยาการเรียน ความรู้ทักษะการสอน แบบคิดวิเคราะห์ทำนองข้อสอบ PISA ของ OECD ครูที่สอบได้คะแนนต่ำมากควรเลิกจ้าง ครูที่ได้คะแนนต่ำ-ปานกลางควรจัดฝึกอบรมใหม่แบบเน้นภาคปฏิบัติและติดตามผลการฝึกอบรมอย่างจริงจัง เพิ่มผลตอบแทนและการให้แรงจูงใจครูที่ตั้งใจพัฒนาตนเอง ควบคู่ไปกับการจัดฝึกอบรม มีการช่วยเหลือพัฒนาครูทุกคน แบบมีพี่เลี้ยง ทำงานเป็นกลุ่ม สัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีคุณภาพ มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่จัดอบรมแบบบรรยาย
เปลี่ยนวิธีการประเมินผลการทำงานของครูและผู้บริหาร โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนว่า ครูสามารถทำให้นักเรียนของตนทั้งโรงเรียนหรือทั้งชั้นสอบได้คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น หรือทำให้นักเรียนสอบผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นสัดส่วนสูงขึ้นกว่าปีก่อนหรือไม่ อย่างไร แทนที่จะเน้นแต่การสร้างนักเรียนเก่งส่วนน้อยไปแข่งขันกันว่า นักเรียนโรงเรียนไหนจะชนะการแข่งขันหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐได้มาก เปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินความดีความชอบครู อาจารย์ ตามสายบังคับบัญชา การสอบ และการส่งผลงานเขียนขอวิทยฐานะ เป็นการตั้งคณะกรรมการ (ที่มีคุณภาพ/เป็นธรรม) ติดตามและประเมินผลการทำงานครู โดยเน้นความตั้งใจในการพัฒนาตนเอง/ทำงาน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของลูกศิษย์ ครูมีเส้นทางความก้าวหน้าในการเป็นผู้สอน ผุ้วิจัย และช่วยฝึกอบรมครูรุ่นเยาว์กว่า ได้ โดยไม่ต้องแข่งกันเพื่อเป็นผู้บริหารทางเดียว
การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และการประเมินผล เน้นผลลัพธ์หรือสมรรถนะ ให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะสำหรับโลกยุคเทคโนโลยี่ดิจิทัลที่ต้องพึ่งพาความรู้ใหม่ๆสูง เช่น การอยากรู้อยากเห็น รักการอ่าน การเรียนรู้ เรียนด้วยตนเองเป็น คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น มีความคิดริเริ่ม มีความเป็นผู้รับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว มีความรู้/ทักษะพื้นฐานที่ใช้งานได้ในโลกจริง มีองค์กรและศึกษานิเทศก์ ครู ผู้ชำนาญการ คอยติดตามสนับสนุนฝึกอบรมให้ครูอาจารย์เข้าใจ มีความรู้ ทักษะ ที่สามารถจัดการเรียนการสอน และการประเมินผลผู้เรียน แนวใหม่ได้จริง
ปฏิรูปโครงสร้าง/ระบบการบริหารแบบลดอำนาจบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการจากการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง มาเป็นผู้กำกับประสานงานและสนับสนุน ส่วนการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษาควรกระจายอำนาจการบริหารจัดการ งบประมาณและความรับผิดชอบให้กับสภาการศึกษาและสมัชชาการศึกษาจังหวัดตามแนวทางส่งเสริมให้จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา องค์การบริหารท้องถิ่น ชุมชน สถานศึกษา พัฒนาระบบกำกับตรวจสอบดูแลและร่วมมือกันทำงานโดยภาคี 4 ฝ่ายคือ ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาและอุดมศึกษาฯ, ครูอาจารย์ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ/ประชาชนและองค์กรท้องถิ่น เพื่อร่วมมือกันปฏิรูปและสถานศึกษาในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล ให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดการเรียนการสอน การวัดผลแนวใหม่ได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีดิจิทัล - ระบบคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยการผลิตและกระจายสินค้า/บริการได้เร็วขึ้น มากขึ้น ถูกลง รวมทั้งทำงานหลายอย่างแทนแรงงานมนุษย์ได้ ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ เน้นการใช้แรงงานที่มีความรู้ทักษะ แบบคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น มีจินตนาการ และเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ดี ปรับตัวได้เก่ง ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ เพื่อพัฒนาพลเมืองที่มีความรู้/ทักษะทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ฉลาด รับผิดชอบ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น ทำงานเป็น แก้ไขปัญหา และแข่งขันทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ถ้าไทยไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลทั้งประเทศจริง จะถูกทอดทิ้งให้ล้าหลังตกต่ำลง ประชากรจะตกงานและยากจนเพิ่มขึ้น
การจะปฏิรูปการจัดการศึกษาให้ได้ผลจริง ต้องปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมแบบผ่าตัดใหญ่ ที่สามารถกระจายทรัพย์สิน รายได้ การให้บริการทางการศึกษา และทางสังคมด้านต่างอย่างทั่วถึง เป็นธรรม อย่างเข้าใจสภาพปัญหา ตระหนักถึงทรัพยากร ศักยภาพและความถนัดของประชากร (เช่นเรื่องเกษตร สินค้าที่ใช้ฝีมือ/ทรัพยากรในประเทศ บริการเรื่องอาหาร สมุนไพร การท่องเที่ยวฯลฯ) เลือกเป้าหมาย/ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่เน้นประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม กระจายผลการพัฒนาอย่างสมดุล เป็นธรรม ลดการทำลาย และเพิ่มการอนุรักษฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มากกว่าการเน้นการเพิ่มความเจริญเติบโตทางวัตถุ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาอื่นตามมามากมายอย่างที่เป็นอยู่
การปฏิรูปศึกษาควรจะมีเป้าหมายที่กว้างไกลมากกว่าการสร้างมนุษย์ทางเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขันหาเงินและบริโภค นั่นก็คือควรพัฒนามนุษย์ที่สมบรูณ์ มีทั้งความรู้/ ทักษะที่สามารถใช้ในการทำมาหากิน เลี้ยงตัวเองและครอบครัว และความฉลาด /ทักษะด้านอารมณ์และสังคม หรือการใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ เห็นใจ เอื้ออาทรต่อผู้อื่น คนที่มีความสุขความพอใจในชีวิตและการงาน รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะเรียนรู้ได้ดีขึ้น และรู้สึกอยากทำดีต่อผู้อื่นหรือต่อสังคมอย่างเข้าใจถึงความจำเป็นของการร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของคนทั้งสังคม และจะช่วยกันแก้ไขและพัฒนาสังคมที่เน้นความสันติสุข ความสมดุล เป็นธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างยั่งยืน มากกว่าการเน้นแข่งขันกันหาเงินแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาอย่างในปัจจุบัน
(ผมจะไปเสนอรายงานเรื่องนี้เพื่อรับฟังคำวิจาร์ณและความเห็นเพิ่มเติม ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 - 12.00 น.ที่โรงแรมโรยัลริเวอร์ ถ.จรัลสนิทวงศ์ ใกล้สะพานซังฮี้ มีถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊คไลฟ ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติด้วย)