การ Transform กับเรื่องของเรือใหญ่ เรือเร็ว และเรือเล็ก

การ Transform กับเรื่องของเรือใหญ่ เรือเร็ว และเรือเล็ก

ความท้าทายของการ Transform ที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

แต่การทำให้คนส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วย ได้มีโอกาสสังเกตผู้นำหลายท่านที่เก่ง มีวิสัยทัศน์ มีความตั้งใจที่ดี แต่จะเดินหรือวิ่งไปข้างหน้าคนเดียว โดยไม่สามารถที่จะพาหน่วยงานและบุคลากรอื่นๆ ในองค์กรไปพร้อมกับตนเองได้

เคยอ่านเจอคำคม ที่อ้างกันว่ามาจากชาวแอฟริกัน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.” ซึ่งพอจะแปลเป็นไทยว่า ถ้าต้องการไปเร็ว ให้ไปคนเดียว แต่ถ้าต้องการไปไกล ให้ไปด้วยกันผู้นำหลายท่านมีเจตนาดี อยากจะเห็นองค์กรตนเองก้าวหน้าให้สามารถตอบรับต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ก็มักจะพยายามขับเคลื่อนองค์กรด้วยความรวดเร็ว แต่เป็นการขับเคลื่อนที่ไม่ได้เกิดจากการขยับตัวของทั้งองค์กร แต่เป็นการขยับตัวเฉพาะของตัวผู้นำและคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ทำให้สุดท้ายแล้วความพยายามดังกล่าวอาจจะไปได้เร็วจริง แต่ไม่สามารถไปได้ไกลและยั่งยืนได้

ผู้นำบางท่านอาจจะมองว่าการจะขับเคลื่อนไปทั้งองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่ยากหรือเป็นไปแทบไม่ได้เลย โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ (และบางแห่งอาจจะก่อตั้งมานาน) แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็มีหลายๆ วิธีการที่องค์กรขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จเขาทำกัน

ถ้าเปรียบองค์กรเป็นเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีความเชื่องช้าและอุ้ยอ้าย ทำให้การเปลี่ยนทิศทางแต่ละครั้งเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า อีกทั้งไปข้างหน้าก็ไปอย่างเชื่องช้า องค์กรที่ผู้นำพยายามจะวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วอยู่คนเดียว ก็จะเปรียบเสมือนกับกัปตันเรือที่ทิ้งเรือขนาดใหญ่ของตนเองไว้ แล้วกระโดดลงเรือ Speed Boat ขนาดเล็ก (อาจจะพร้อมกับทีมเล็กๆ อีก 2-3 คน) แล้วพยายามจะไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือกัปตันและพรรคพวกอีกจำนวนน้อยอาจจะไปได้เร็วจริง แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากเรือใหญ่ สุดท้ายก็จะไปได้ไม่ไกล (น้ำมันอาจจะหมด หรือ เผชิญพายุขนาดใหญ่แล้วล่ม) สำหรับวิธีการที่หลายๆ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงมักจะใช้ จะไม่ใช่การที่กัปตันเรือสละเรือใหญ่แล้วขึ้นเรือเร็วเพื่อพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพียงลำเดียว แต่จะเป็นการส่งเรือเล็ก หลายๆ ลำ ที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงานภายในเรือ ร่วมกันบุกเบิกหาเส้นทางใหม่ๆ โดยเรือเล็กหลายๆ ลำเหล่านี้ ไม่ได้ส่งออกไปเพื่อให้ไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด แต่เป็นการหาเส้นทางใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับเรือใหญ่

ประเด็นสำคัญคือเรือเล็กเหล่านี้ เมื่อออกไปก็จะต้องหาหนทางที่จะกลับมาเชื่อมโยงและบูรณาการกับเรือใหญ่ โดยเป็นการใช้ฐานทรัพยากรที่แข็งแกร่งของเรือใหญ่ ความแตกต่างจากรูปแบบแรกที่ผู้นำกระโดดขึ้นเรือเร็ว เพื่อพุ่งไปข้างคนเดียว คือ ในรูปแบบของเรือเล็กนั้น จะมีเรือเล็กหลายๆ ลำกระจายออกจากเรือใหญ่ ขณะเดียวกันเรือเล็กเหล่านี้ก็ไม่ได้เน้นที่เรื่องของความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่เน้นในเรื่องของการหาเส้นทางใหญ่ ที่จะนำพาเรือใหญ่ไปสู่จุดมุ่งหมาย (โดยไม่ใช้อาศัยความเร็วเพียงอย่างเดียว) และที่สำคัญสุดคือ เรือเล็กเหล่านั้น จะต้องสามารถบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงกับเรือใหญ่ โดยไม่ทำให้คนในเรือใหญ่รู้สึกถูกทอดทิ้ง แต่เป็นการทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง

โมเดลเรือเล็กที่ออกจากเรือใหญ่นี้ บางองค์กรอาจจะมองว่าตนเองก็ใช้อยู่ แต่ประเด็นสำคัญสุดคือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ทุกคนในเรือใหญ่ได้รู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะได้ออกไปกับเรือเล็ก แต่ทำอย่างไรให้บุคลากรส่วนใหญ่ของเรือใหญ่ได้มีส่วนร่วมไปกับเรือเล็กด้วย ไม่ใช่ความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งให้ไปเรื่อยๆ ขณะที่ผู้นำองค์กรนั่ง Speed Boat ออกไปอย่างรวดเร็ว