วิธีที่ผู้จัดการจะทำให้ CEO สบายใจ!
CEO ที่เป็นผู้นำสูงสุดของทุกองค์กร มีเรื่องที่ต้อง “คิด” มีเรื่องที่ต้อง “บริหารจัดการ” มีเรื่องที่ต้อง "เจรจาต่อรอง”
กับทั้งพันธมิตร/คู่ค้าภายนอก ลูกค้ารายสำคัญๆ รวมไปถึงเรื่องที่ต้อง “ต่อรอง” กับผู้บริหารในองค์กรทั้งระดับบอร์ดและระดับทั่วไปในองค์กรมากมายในแต่ละวัน
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ การเงิน การลงทุนหรือเรื่องกลยุทธ์ที่จะนำองค์กรไปสู่เป้าหมาย ที่บางเวลาต้องคิดอย่างรอบคอบ บางเวลาก็รอช้าไม่ได้เพราะโอกาสมาเร็วไปเร็ว
ไหนจะเรื่องที่เทคโนโลยีกำลังทยอย Disruption ในแต่ละธุรกิจจนบ้างก็ล้มหายตายจาก บ้างก็ซวนเซ ต้องคิดว่าจะไม่ให้ถูกดิสรัป อย่างไรหรือจะฉกฉวยโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง!
เรื่องที่ CEO คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องเสียเวลามาคิดมาแก้ปัญหา เพราะควรเป็นเรื่องของบรรดา ผู้บริหารและผู้จัดการในแต่ละสายงาน ควรจะต้อง “บริหารจัดการให้ดี” คือเรื่องเกี่ยวกับ “พนักงานระดับปฏิบัติการ!”
CEO ทุกที่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่อง “คน” อยู่แล้ว ต่างพยายามสร้างและมีมือรอง ที่เป็นคู่คิดคู่ลุยเพื่อนำองค์กรไปข้างหน้า CEO ส่วนมากก็ให้ความสำคัญกับผู้บริหารระดับสูงและผู้จัดการทุกสายงาน ที่ต่างก็เป็นหัวหน้าทีมของตนเอง เพื่อให้ทุกคนเห็นและมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
แต่ตัวฉุดรั้งที่บ่อยครั้ง เป้าหมายที่ CEO กำลังนำทัพ ต้องสะดุดหยุดกึก หรือเดินหน้าได้หนึ่งก้าว ต้องถอยหลังสามก้าวเป็นระยะ ก็ยังไม่พ้นปัญหาเรื่อง “คน!”
คนที่เป็นปัญหา ถึงแม้จะเป็น พนักงานระดับปฏิบัติการ ที่สร้างปัญหา หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือมองไม่เห็นเป้าหมาย หรือไม่สนใจ ไม่ทุ่มเท ขาดความรับผิดชอบฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับ พนักงานระดับปฏิบัติการ.. ปัญหานั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาถึงบรรดา “ผู้จัดการของหน่วยงานที่มีปัญหา!”
พนักงานในหน่วยงานใดที่มีปัญหาหมักหมม หรือแก้ไขไม่ได้ซักที นั่นแสดงว่า “ผู้จัดการ” ที่ดูแลหน่วยงานนั้นคือ “ตัวปัญหา!” (ถ้าเอาไม่อยู่ ปล่อยปละละเลย ไม่พยายามแก้ไข!)
ถ้า CEO ยังต้องมาคอยกังวลหรือตามแก้ปัญหา ที่ ผู้จัดการไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องลูกน้องของตนเองได้
อะไรจะเกิดขึ้นกับ CEO และองค์กร!?
สิ่งที่ ผู้จัดการ ทุกสายงาน ในฐานะผู้นำทีมของตนเอง ต้องทำ(ไม่ใช่แค่ควรจะทำ!) คือ ต้องทำให้ CEO มั่นใจ สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่า ทีมงานที่เป็นลูกน้องของผู้จัดการ จะเป็นปัญหา อุปสรรค หรือเป็นภาระขององค์กร!
ผู้จัดการทุกคนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ต่างก็จะพูดเหมือนกันว่า “งานยุ่ง” ซึ่งก็มีทั้ง งานยุ่งงานเยอะจริง
แต่บางส่วนงานยุ่งงานเยอะเพราะเกิดจาก มัวไปยุ่งกับเรื่องของงานจนละเลยไม่ได้ พัฒนาทีมงานที่เป็นลูกน้อง จนทำให้งานทุกอย่างที่มีมุ่งมาที่ผู้จัดการจนยุ่งอยู่คนเดียวแต่ลูกน้อง “ว่างมาก!”
งานเยอะสามารถทำให้เป็นงานไม่เยอะได้ งานยุ่งสามารถทำให้ยุ่งน้อยลงได้ ถ้าผู้จัดการ รู้จักพัฒนาทีมงานที่เป็นลูกน้อง ปัญหาในชีวิตจริงคือ มีผู้จัดการกี่เปอร์เซ็นต์ที่มุ่งมั่นพัฒนาลูกน้อง ที่ทุ่มเทกับการ Coaching ลูกน้อง จนสร้างลูกน้องบางคนให้เป็นมือรองได้ ที่แก้ปัญหาในเรื่องทัศนคติลบๆ ของลูกน้องได้ ที่หล่อหลอมลูกน้องแต่ละคนให้เห็นภาพเดียวกัน มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้!?
สิ่งที่ CEO ทุกที่ไม่อยากได้ยินจากปากผู้จัดการ หรือจากปากผู้บริหารของคนอื่นคือ ลูกน้องของผู้จัดการบางคนเป็นตัวปัญหาของหน่วยงานเป็นตัวปัญหาและเป็นภาระขององค์กร!
เพราะเท่ากับว่า ผู้จัดการคนนั้น คือตัวปัญหาที่แท้จริง ที่อ่อนแอ เหลาะแหละ ไร้ศักยภาพในการป้องกันและแก้ปัญหาลูกน้องของตนเอง!
อย่างที่บอก CEO มีเรื่องที่ต้องคิด ทำ ต้องบริหารจัดการมากมายในแต่ละวัน...
ทางเดียวที่ ผู้จัดการจะทำให้ CEO สบายใจ ก็คือ ผู้จัดการทุกหน่วยงาน นอกจากจะต้องมีส่วนช่วยสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับหน่วยงานและองค์กรแล้ว ผู้จัดการจะต้อง “สร้างคนเป็น” นั่นคือเป็น ทั้ง Leader นำทีมหน่วยงาน เป็นทั้ง Coach ที่สร้างและพัฒนาทีมงาน ไม่ให้ทีมงานสร้างปัญหา หรือถ้ามีก็ต้องให้น้อยที่สุดแล้วแก้ไขได้ ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้!
ถ้าผู้จัดการคนไหนทำให้ CEO สบายใจ มั่นใจในเรื่องนี้ได้ ผู้จัดการคนนั้นก็ มีอนาคต ที่สดใสในองค์กรนั้น
แต่ถ้าผู้จัดการคนไหนทำไม่ได้ ยังปล่อยปละละเลยให้ลูกน้องสร้างปัญหาเป็นภาระอยู่ร่ำไป
ผู้จัดการคนนั้น คงต้องนั่งนับวันถอยหลังเพราะใกล้ถึงวันที่จะหมดอนาคตแล้ว!
ผู้จัดการที่เปลี่ยนตัวเองให้เป็น Coach ในองค์กรได้ ผู้จัดการคนนั้นก็จะเปลี่ยนพนักงานให้เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่เป้าหมายได้ นั่นแหละเรื่องที่ทำให้ CEO สบายใจ !