เซอร์ไพร์สจากเฟดและ ธปท.
ในเดือนที่แล้ว ผมได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมาจริงหรือ
เนื่องจากเฟดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าขึ้นจากคาดการณ์เดิม และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่อยู่ห่างจากเป้าหมายของเฟดที่ 2% มากนัก
อย่างไรก็ดี เฟดมีมติ 8 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ 2.00 - 2.25% ตามที่ตลาดคาด โดยระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลง และส่งผลให้ภาคธุรกิจของสหรัฐชะลอการลงทุน เนื่องจากความเชื่อมั่นแย่ลง เฟดคาดหวังว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยลดผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจลามมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐ และคาดหวังว่าภาคธุรกิจจะกลับมาลงทุนมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี เฟดได้สร้างความผิดหวังให้แก่ตลาดที่คาดว่าจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเฟดไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะลดดอกเบี้ยลงอีก โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เป็นเพียงการปรับนโยบายชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ เฟดยังคงยืนยันถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคแรงงานและการบริโภคที่เติบโตต่อเนื่อง โดยกรรมการเฟด 2 ท่านลงคะแนนเสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเพียงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ย
จะเห็นได้ว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดในครั้งล่าสุดนี้ อาจเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะดำเนินการใดๆเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งหากมองในแง่ของความเป็นจริงแล้ว การที่ภาคธุรกิจของสหรัฐชะลอการลงทุนเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก ไม่ได้มาจากผลของอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นหากเฟดส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีปัญหา ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็จะยิ่งปรับตัวแย่ลง และส่งผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจหดตัวมากขึ้น
ในส่วนของไทย มีเสียงเรียกร้องต่อเนื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยคาดหวังว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ดี ในรายงานนโยบายการเงินของ ธปท. ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทมีสาเหตุจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่อง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยจากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI และมีเงินลงทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยจากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน JP Morgan Emerging Markets Bond Index สอดคล้องกับบทความของบลูมเบิร์กที่มองว่าไทยเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย เนื่องจากค่าเงินบาทมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง นอกจากนี้ ธปท. ยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการลงทุนที่เกินระดับความเสี่ยงเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ธปท. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงิน เช่น ลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้เพียงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ 1.50% ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ย เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีสัญญาณใดๆจาก กนง. ว่าจะประกาศลดดอกเบี้ย โดย กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และการส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้
การที่ กนง. ไม่ส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากแนวโน้มสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐประกาศเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่อัตรา 10 % และจีนตอบโต้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมโดยการประกาศค่ากลางเงินหยวนอ่อนลงและระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ซึ่งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการ กนง. งดให้ข่าวใดๆก่อนที่จะมีการประชุมราว 1 สัปดาห์ จึงไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงการลดดอกเบี้ยในครังนี้ โดย กนง. คงพิจารณาดีแล้วว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากในช่วงนี้มีหลายประเทศประกาศลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงจริง และค่าเงินบาทแทบไม่เปลี่ยนแปลงหลังมีการประกาศลดดอกเบี้ย