สินค้าไทยยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวจีนจากบิ๊กดาต้า
โลกดิจิทัลปัจจุบัน บริษัทนำเที่ยว (OTA) ในจีนจำนวนมากได้เปิดพื้นที่ให้กนักท่องเที่ยวเข้าไปแสดงความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์และรีวิวให้คะแนน
การศึกษาของ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เรื่อง การศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รายงานการแบ่งปันข้อมูลสินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนระหว่างการท่องเที่ยวเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ การศึกษาชิ้นนี้เลือกใช้ข้อมูลที่ปรากฏในแอพลิเคชั่น “เสี่ยวหงซู” (Red book) ซึ่งเป็นแอพยอดนิยมของจีนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน
การศึกษาโดยการสืบค้นเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 พบ จำนวนข้อมูลแบ่งปันถึง 213,179 ข้อความ จำนวนสินค้ากว่า 2,899 รายการ ที่มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ทั้งนี้ ข้อกำหนดสำคัญของการใช้แอพเสี่ยวหงซูก็คือ ผู้แบ่งปันข้อมูลไม่สามารถนำเสนอขายสินค้าผ่านพื้นที่ดังกล่าวได้ ทำได้เพียงการแสดงความคิดเห็นต่อสินค้า สถานที่ซื้อและราคา หากต้องการเป็นผู้ขายสินค้าดังกล่าวต้องรอให้ผู้ที่เข้ามาอ่านติดต่อโดยตรงกับผู้แบ่งปันเพื่อทำการซื้อขายในช่องทางติดต่อส่วนตัวที่อยู่นอกแพลตฟอร์ม “เสี่ยวหงซู” เท่านั้น
ด้วยศักยภาพของ “เสี่ยวหงซู” ที่เป็นศูนย์รวมการแบ่งปันข้อมูลด้านสินค้ายอดนิยมที่คนจีนนิยมซื้อเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศปลายทางเหล่านั้น ดร.ดนัยธัญได้ทดลองจัดเก็บข้อมูลความคิดเห็นของคนจีนที่กล่าวถึงการซื้อสินค้าไทย นำมาใช้วิเคราะห์ “คำสำคัญ” เพื่อหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าไทย จำนวนรายการสินค้าส่วนใหญ่ที่คนจีนนิยมซื้อแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค (เช่นผลไม้อบแห้ง) กลุ่มของใช้ (เช่นหมอนยางพารา) และกลุ่มเครื่องสำอาง (เช่น Facial, แผ่นมาส์กหน้า) และได้เลือกเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอางมาเป็นตัวอย่างการศึกษา
จากการทำเหมืองข้อความบันทึกประสบการณ์การซื้อเครื่องสำอางไทยของคนจีนที่แสดงผ่านสังคมออนไลน์ “เสี่ยวหงซู” คำสำคัญที่พบมากที่สุดคือ “Thailand” (1,099 ครั้ง) รองลงมาคือ “Effect” (653 ครั้ง) “Brand” (489 ครั้ง) “Use”(476 ครั้ง) “Recommend” (425 ครั้ง) “Skin” (404 ครั้ง) “Price” (401 ครั้ง) “Cheap” (486 ครั้ง) และ “Mask” (363 ครั้ง) ตามลำดับ ข้อมูลเบื้องต้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอางไทยได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ปัจจัยการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางไทย (“Thailand”) ของคนจีนจะคำนึงถึงต้องเป็นยี่ห้อ (“Brand”) ที่มีชื่อเสียงในไทยหรือถูกอ้างอิงถึงจาก Influencer (“Recommend”) หรือในจีน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์สากล ส่วนใหญ่กล่าวถึงผลลัพธ์ที่มีต่อผิว (“Effect”, “Skin”) กรณีที่เป็นเครื่องสำอางไทยราคาต้องไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์เกาหลี (“Price”, “Cheap”) และสินค้ายอดนิยมที่สุดในกลุ่มเครื่องสำอางคือแผ่นมาส์กหน้า (“Mask”)
ในขณะที่คำสำคัญที่มีระดับความถี่รองลงไปไม่ว่าจะเป็น “Package”, “Product”, “Feel”, “Color”, “Natural” ก็บ่งบอกถึงจุดสำคัญที่ผู้ซื้อพิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่ดูทั้งในส่วนคุณภาพภายในของตัวสินค้า และรูปแบบภายนอกของบรรจุภัณฑ์ควบคู่กัน โดยเครื่องสำอางไทยจุดเด่นสำคัญประการหนึ่งคือใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ใช้ในระยะยาว
ที่มา: ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ. 2562. โครงการการศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 4.0. มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ.
ข้อมูลที่ได้จากการทำเหมืองข้อความนั้น นอกจากจะบ่งบอกปัจจัยการตัดสินใจเลือกซื้อของที่ระลึกแล้ว “เสี่ยวหงซู” ยังช่วยวิเคราะห์แบรนด์สินค้ายอดนิยม ณ ขณะนั้นด้วย โดยข้อมูลในตารางที่ 1 ได้แสดงแบรนด์สินค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มของกิน ยาเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง 20 อันดับแรก พบว่า แบรนด์ยอดนิยม 6 อันดับแรกเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น Mistine, Beauty Buffet, VooDoo, PiBaMy, Ray, Snail White จากข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า การจะทำให้แบรนด์ของตนเป็นที่ยอมรับสำหรับนักท่องเที่ยวจีนได้ต้องมาจากการทำการตลาดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือในแบรนด์สินค้า ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือต้องเข้าไปอยู่ในช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่นักท่องเที่ยวจีนใช้ ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายออฟไลน์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะสินค้าหลายรายการถูกวางจำหน่ายในร้านค้าที่ได้รับความเชื่อถือเช่น Booth Watson ร้านขายยา ในห้าง Modern trade ต่างๆ ร้านค้าปลอดภาษีและ 7-11 ซึ่งผู้ซื้อจะมั่นใจมากกว่าการซื้อตามร้านขายของฝากทั่วไป ผู้ประกอบการไทยควรใช้ช่องทางเหล่านี้สำรวจตลาดและตำแหน่งสินค้าของไทยและคู่แข่ง
สำหรับผู้ที่สนใจรายงานผลการศึกษาสามารถดาวโหลดเอกสารได้ที่ http://www.khonthai4-0.net