การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(4)
นโยบายข้อ 9.3 พัฒนาและยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ให้เป็นหมอประจำบ้านควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์
เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงและครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริการสาธารณสุขในชุมชนผ่านการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาท อสม. และการยกระดับคุณภาพการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อให้ประชาชนในทุกครัวเรือนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
ก.นโยบาย “พัฒนาและยกระดับความรู้ อสม. ให้เป็นหมอประจำบ้าน” เป็นนโยบายที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ แต่ต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า การเป็นหมอประจำบ้านขอ งอสม. หมายถึง การให้ความรู้ให้อสม.มีความสามารถในการให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ(Health Promotion) การป้องกันโรคและอุบัติเหตุ (Prevention of Diseases and Injuries) การรักษาโรคเบื้องต้นได้เอง รวมทั้งการปฐมพยาบาลเมื่อบาดเจ็บ การดูแลมารดา(ตั้งครรภ์ หลังคลอด)และทารก และรู้ว่าเมื่อไรควรรีบบอกให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ (มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายเกินเยียวยา) รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพภายหลังการเจ็บป่วย
อย่าลืมว่า อสม.คือผู้มีจิตอาสาที่จะช่วยดูแลเพื่อนบ้าน การที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข ประกาศจะขึ้นเงินเดือนให้อสม.ระดับหมื่นบาทนั้น อาจเกิดการเปรียบเทียบในหมู่ข้าราขการของกระทรวงที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน แต่ค่าตอบแทนต่ำ และยังอาจก่อให้เกิดปัญหาภาระงบประมาณในอนาคต และทำลายหลักการของการเป็น “จิตอาสา” ที่ต้องการเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ก็อาจจะมีประโยชน์ในการจัดตั้ง “หัวคะแนน” เพราะอสม.เป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชนในทุกหมู่บ้าน
ข.นโยบาย “เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงและครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วน” นโยบายนี้ ก็ดูซ้ำกับข้อ 9.1 คือต้องการให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพทั่วถึง ซึ่งจะทำได้อย่างไรนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้วในข้อ 9.1 ก. ขอกล่าวโดยย่อในที่นี้คือ การจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันยังขาดอยู่อีกมาก
ค.นโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ” ซึ่งระบบในที่นี้หมายถึงระบบกการประกันสุขภาพภาครัฐ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (หรือระบบ 30 บาท) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยนั้น บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาย่อมให้การบริการตามมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว ข้อจำกัดเรื่องคุณภาพการบริการนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนด “สิทธิประโยชน์ต่างๆ” ของผู้บริหารกองทุน ทั้งจากกรมบัญชีกลาง คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กำหนดรายการโรค รายการยา รายการเครื่องมือแพทย์ และรายการผ่าตัดหรือหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ว่า จะให้เบิกค่ารักษาเหล่านี้ได้หรือไม่ได้ แค่ไหน /อะไร/ เท่าไร และอย่างไร
ฉะนั้น การที่จะทำให้คุณภาพบริการในแต่ละระบบเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำนั้น รัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรต้องไปประสานงานกับผู้บริหารกองทุนอีก 2 กองทุน (ซึ่งก็เป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว) ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคมและควรแก้ไขปัญหา ที่ผู้บริหารกองทุนก้าวก่ายดุลพินิจของแพทย์ในการรักษาโรค โดยการกำหนดวิธิการวินิจฉัยและการรักษาโรค เลิกยึดติดกับแนวคิดที่ว่า “ใช้เงินน้อยที่สุดเพื่อดูแลรักษาคนให้ได้มากที่สุด” เพราะ นั่นคือการทำลายระบบคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุข และควรให้ประชาชนที่ไม่ยากจนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการไปใช้บริการ เพื่อให้มีเงินในการรักษาพยาบาลให้ได้ตามมาตรฐานและทันสมัย ตามนโยบายที่นายกฯ แถลงต่อรัฐสภาด้วย
ง.นโยบาย “พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริการสาธารณสุขในชุมชนผ่านการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล ควบคู่ไปกับการเพิ่มบทบาทของอสม. และการยกระดับคุณภาพการบริการของ รพ.สต. เพื่อให้ประชาชนในทุกครัวเรือนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว” การพัฒนาการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ท้องที่ที่ยังไม่มีบุคลากรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ สามารถขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในศูนย์การแพทย์ใหญ่ๆได้ แต่ไม่สามารถที่จะช่วยผ่าตัดหรือทำหัตถการที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ การช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย (Referring System) ให้รวดเร็ว สะดวกและปลอดภัย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้การรักษาที่ใกล้เคียงที่สุด
ส่วนนโยบายการเพิ่มบทบาท อสม. ผู้เขียนได้กล่าวถึงแล้วในข้อก. นโยบายในการยกระดับคุณภาพการบริการของ รพ.สต.นั้น ได้ยินข่าวมาว่า รัฐมนตรีอนุทิน จะให้มีแพทย์ประจำทุกรพ.สต. ซึ่งผู้เขียนยังเชื่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยังไม่สามารถหาตำแหน่งและอัตรากำลังให้แพทย์ได้ และ/หรือยังไม่มีแพทย์พร้อมที่จะไปอยู่ประจำรพ.สต. ได้ครบภายใน 10 ปีข้างหน้า และขอเตือนว่า ในการบริการสุขภาพนั้น มีความจำเป็นต้องครอบคลุม 24 ชั่วโมง การจัดให้แพทย์ 1 คน ไปประจำ 1 โรงพยาบาล ทำให้แพทย์ทนอยู่ไม่ได้ เพราะต้องอยู่เวรตลอดทุกชั่วโมง แพทย์ต้องมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำงาน อย่างน้อยต้องมีแพทย์ 3 คน เพื่อจะได้อยู่เวรคืนเว้น 2 คืน เพราะถ้าให้รอรับการเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกรพ.สต.ทุกวันทุกคืน แพทย์แห่งละคนย่อมไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน
จ.ที่สำคัญคือ อสม.จะต้องให้ความรู้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตามที่ได้ออกความเห็นในข้อ ก. เพื่อทุกคนมีสุขภาพดีตามวัย ไม่เป็นภาระหนักแก่ระบบบริการ
(อ่านตอนจบ ฉบับวันที่ 9 ก.ย.2562)
โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา