“มาตรการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน”

“มาตรการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน”

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของได้ง่าย

ซึ่งนอกจากจะใช้ในการติดต่อสื่อสารแล้วยังใช้ในการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พักผ่อนหย่อนใจหรืออำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ถ่ายรูป บันทึกเสียง ด้วยเหตุนี้คนไทยส่วนใหญ่จึงมีโทรศัพท์มือถือติดตัวและมักจะหยิบขึ้นมาใช้งานระหว่างวันอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ใช้งานหลักมิได้มีเพียงวัยผู้ใหญ่เท่านั้น หากยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนในวัยประถมและมัธยมด้วยซึ่งขณะนี้พบปัญหามีการใช้งานโทรศัพท์มือถือบ่อยครั้งระหว่างที่กำลังเรียนหนังสือในโรงเรียน และสนใจจดจ่อสิ่งที่อยู่ในสมาร์ทโฟน เช่น แชทคุย เล่นเกมส์ออนไลน์ หรือดูยูทูปมากกว่าบทเรียน

งานวิจัยนานาชาติที่เชื่อถือได้หลายแห่งพบว่าเมื่อนักเรียนใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากขึ้นส่งผลให้ผลการเรียนรู้ของเด็กตกต่ำลงเพราะเด็กขาดความสนใจต่อบทเรียน ขาดสมาธิในการเรียนรู้ และขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และคุณครูทั้งยังส่งผลให้เด็กนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออันเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศประเทศจึงมีแนวคิดในการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนเพื่อที่จะให้นักเรียนกลับมาสนใจบทเรียนและทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

ประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มใช้นโยบายห้ามใช้หรือแบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในโรงเรียน (Detox Law) มาตั้งเดือน ก.ย.2018 โดยริเริ่มจากนโยบายของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเพราะเชื่อว่า หากนักเรียนใช้งานโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดผลเสียกับการเรียน คะแนนตกต่ำและมีผลต่อการทำงานของสมองที่ช้าลง

รัฐสภาฝรั่งเศสจึงผ่านกฎหมายใหม่ ห้ามเด็กอายุระหว่าง 3-15 ปีนำสมาร์ทโฟนรวมถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทวอชเข้าไปในโรงเรียน ส่วนโรงเรียนมัธยมที่มีนักเรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะร่วมแบนโทรศัพท์มือถือสำหรับเด็กนักเรียนด้วยหรือไม่ หรือจะนำคำสั่งห้ามไปปรับใช้อย่างไร แนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าบทบาทพื้นฐานของการศึกษาคือการช่วยปกป้องเด็ก และเยาวชนจากเนื้อหาทางออนไลน์ที่ล่อแหลม เช่น ความรุนแรงหรือภาพลามกอนาจาร ไปจนถึงการรังแกผ่านโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมถึงการใช้มือถืออย่างผิดวิธีจนเกิดปรากฏการณ์ติดหน้าจอ อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวมีข้อยกเว้นสำหรับเด็กพิการและกิจกรรมนอกหลักสูตร

ขณะที่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ได้ขานรับแนวคิดนี้เช่นกันโดยจะประกาศห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียนและจะเริ่มดำเนินการในช่วงเปิดภาคเรียนปี 2020 ซึ่งข้อกำหนดนี้จะใช้บังคับในนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลรัฐเล็งเห็นว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นสิ่งรบกวนทำให้เสียสมาธิในห้องเรียน ส่งผลดีต่อการเรียนการสอนและยังเป็นหนึ่งในวิธีลดการรังแกทางไซเบอร์ด้วยเพราะวัยรุ่นออสเตรเลียมากกว่ากึ่งหนึ่งเคยผ่านประสบการณ์ Cyber Bully

มาตรการดังกล่าวกำหนดให้นักเรียนทุกคนจะต้องปิดโทรศัพท์มือถือและนำไปเก็บไว้ในตู้ล็อคเกอร์และจะได้รับโทรศัพท์คืนหลังเลิกเรียนเท่านั้น และหากมีเหตุฉุกเฉินพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถติดต่อบุตรหลานได้โดยโทรศัพท์ผ่านทางโรงเรียน อย่างไรก็ดี กฎระเบียบข้อนี้มีข้อยกเว้นเช่นกันในกรณีที่นักเรียนผู้นั้นใช้โทรศัพท์เพื่อเฝ้าระวังภาวะต่าง ๆ ทางสุขภาพ หรือเมื่อครูผู้สอนอนุญาตให้นักเรียนนำโทรศัพท์มาเพื่อทำกิจกรรมในชั้นเรียนเป็นการเฉพาะ

มีรายงานจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในนครเมลเบิร์นว่า หลังจากห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์แล้ว นักเรียนได้เพิ่มความสนใจในชั้นเรียน ออกกำลังกายในสนามของโรงเรียนมากขึ้น และนักเรียนใช้เวลาพูดคุยกันมากขึ้นในเวลาอาหารกลางวันแทนที่ต่างคนต่างก้มหน้าสนใจแต่โทรศัพท์มือถือของตนเอง

อย่างไรก็ดี ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐ มาตรการนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2015 เนื่องจากเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนและการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามที่เกิดบ่อยครั้ง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเป็นห่วงบุตรหลานของตนและต้องการให้มีการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา

สำหรับประเทศไทย เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วมีรายงานข่าวว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นห่วงเด็กไทยจะขาดการคิดและการจดจำเนื่องจากใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปและบันทึกเสียงแทน กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นจึงเตรียมจะออกประกาศข้อห้ามหรือคำสั่งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ห้ามนักเรียนนักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการเรียนการสอนโดยจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อออกจากห้องเรียนและนอกเวลาเรียนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนจดบันทึกมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อกระบวนการทางความคิดและการจดจำ

แต่ท้ายที่สุดนโยบายนี้ไม่ได้นำมาใช้บังคับเพราะมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยโดยเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุและเด็กสามารถใช้โทรศัพท์มือถืออย่างสร้างสรรค์ได้ภายใต้การแนะนำของผู้ปกครองและครู นอกจากนี้เห็นว่าสถานศึกษาหลายแห่งเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว จึงให้เป็นดุลพินิจของแต่ละโรงเรียนที่จะกำหนดกฎระเบียบที่เหมาะสมในการจัดการหรือป้องกันปัญหานี้

ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการนี้มีประโยชน์ต่อนักเรียนและควรนำมาใช้ในโรงเรียนโดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะยังขาดภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อออนไลน์ ทั้งยังเป็นช่วงวัยที่ควรพัฒนาทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนทุกด้าน แต่มีข้อเสนอแนะว่า หากในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการจะนำมาตรการดังกล่าวมากำหนดเป็นระเบียบใช้บังคับก็ควรมีการทดลองปฏิบัติก่อนเช่น ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนทุกวันจันทร์ และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนวันขึ้นในท้ายที่สุด เพื่อให้เด็กและโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมและลดความรู้สึกต่อต้าน

กล่าวโดยสรุป โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตราบเท่าที่นักเรียนหรือผู้ใช้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลเสียหากใช้เวลากับสิ่งนี้มากเกินไปและแม้ขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน แต่จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากเราเริ่มคิดคำนึงถึงผลกระทบของเรื่องนี้อย่างจริงจังและชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียของมาตรการดังกล่าวอย่างไม่อคติ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กไทยในอนาคต

โดย... 

สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์