14 หลักคิด เพื่อการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ
นี่คือชื่อหนังสือที่ผมสรุปแนวคิดสำคัญของหนังสือจิตวิทยาเล่มเด่นๆ14เล่ม (พิมพ์โดยสนพ.ไทยควอลิตี้บุ๊ค)
เนื้อหาประกอบไปด้วย หลักจิตวิทยาที่เราควรรู้ การเสริมสร้างความฉลาดหลายด้านความคิดในทางบวกและความคิดสร้างสรรค์ ธรรมชาติของมนุษย์ ภาวะทางอารมณ์ ปัญหาการเลือกในโลกยุคทุนนิยมสมัยใหม่ และความแตกต่างสมองและจิตวิทยาระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เพศชายกับเพศหญิง
จุดมุ่งหมายของหนังสือคือเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องจิตวิทยาของการคิดและอารมณ์ของตัวเราเองในโลกยุคปัจจุบัน รู้จักแนวทางการเรียนรู้ การเสริมสร้างความฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ได้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้เราแต่ละคนได้เข้าใจตัวเอง สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมในการที่จะช่วยสร้างครอบครัว ชุมชนและสังคมส่วนรวมที่มีความฉลาดและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย
หนังสือแนวจิตวิทยาทั่วไป14เล่มนี้ เป็นมากกว่าหนังสือคู่มือ(How To)แบบตลาด เนื่องจากเป็นหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่มีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้องที่เข้มแข็ง และมุ่งให้ผู้อ่านได้เข้าใจ เรียนรู้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และพัฒนาความเป็นมนุษย์โดยรวม มากกว่าการเสนอกลยุทธ์แบบแยกเป็นส่วนๆ
คนไทยยังสนใจศึกษาเรื่องจิตวิทยา ประสาทวิทยา จิตวิทยาสังคม และความรู้เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ในทุกด้านค่อนข้างน้อยทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นประเทศใหญ่ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่ขณะเดียวกันมีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การขาดประสิทธิภาพ ขาดจริยธรรม และปัญหาสังคมต่างๆ อยู่มาก ชนชั้นนำไทยยังมองปัญหาแบบแยกส่วนว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตก่อนจึงจะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ แต่ความจริงต้องแก้ไขที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ ความเข้าใจของงพลเมืองก่อน และจะต้องรู้จักมองปัญหาแบบเชื่อมโยงถึงเรื่องของชีวิตชุมชน และระบบนิเวศอย่างเป็นระบบองค์รวม คือ ต้องมุ่งปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของประชาชนส่วนใหญ่อย่างรอบด้าน (ทั้งความฉลาดทางปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม หรือการมีจิตสำนึกเพื่อสังคม) ด้วย
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะทำให้ผู้อ่านรู้จักตนเองและคนอื่นๆ เพิ่มขึ้น ฉลาดขึ้นแล้ว ผู้เขียนหวังว่าน่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องจิตวิทยาและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ให้ลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ช่วยกันแก้ปัญหาทั้งด้านความคิดจิตใจของปัจเจกชน พัฒนาความคิด จิตใจ และอารมณ์คนไทยด้านนี้ให้มีวุฒิภาวะคิดบวก คิดสร้างสรรค์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคมเพิ่มขึ้น ไปหนุนช่วยแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้อย่างสำคัญ
หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย 15 บทความ บทนำ:มนุษย์เรารู้อะไรเกี่ยวกับความคิดจิตใจของตัวเราเอง สรุปความรู้เรื่องพัฒนาการ โดย ดาเนียล โกลแดน
1. ภาษาและความคิดของเด็ก โดย ฌอง เพียเจท์ 2. การหยั่งถึงธรรมชาติของมนุษย์ โดย อับราฮัม มาสโลว์ 3. คู่มือการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล โดย อัลเบิร์ต เอลวิส และโรเบิร์ต เอ ฮารน์เปอร์ 4. บ่อเกิดของภาวะอารมณ์ในชีวิตประจำวัน โดย โรเบิร์ต ทาเยอร์ 5. ความแตกต่างระหว่างเพศชายกับเพศหญิง โดย แอนน์มัวร์ และเดวิส เจสเซล 6. สมองของเพศหญิง โดย โลแอน ไปรเซนไดร์ 7. ทฤษฎีความฉลาดหลายด้าน 8. การทำงานกับความฉลาดทางอารมณ์ 9. ทักษะในการสื่อสาร/ทักษะทางสังคม โดย โรเบิร์ต โบลตัน 10. การคิดแบบนอกกรอบ โดย เอ็ดวาร์ด เดอ โบโน 11. ความคิดสร้างสรรค์:ความเพลิดเพลินและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดย มิฮาลี ซิคเซนมีไฮ 12. จิตวิทยาของการชักจูงใจ โดย โรเบิร์ต บี เซียอัลดินี 13. ความขัดแย้งของการมีทางเลือกจำนวนมาก โดยแบรรี่ ชวาตซี 14. ความสุขที่แท้จริง:การใช้จิตวิทยาแนวบวก พัฒนาศักยภาพของคุณเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน โดย มาร์ติน เซลิกแมน
ตัวอย่างเช่น ฌอง เปียเจท์ เสนอว่าเด็กวัยต่างๆตั้งแต่1. เด็กทารก 2. เด็กวัยก่อนเข้าเรียน 3. เด็กเล็ก และ 4. วัยรุ่นขึ้นไป มีวิธีการรับรู้ การเรียนรู้ และการคิดที่แตกต่างกัน กล่าวคือช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบเด็กจะเรียนรู้โลกจากการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสทั้งห้า ช่วงที่ 2 วัย 2-7 ขวบ เขาจะเรียนรู้ทักษะในการเคลื่อนไหว ช่วงที่ - อายุ 7-11 ขวบ เขาจะเริ่มคิดอย่างเป็นเหตุผลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรม ช่วงที่ 4 อายุ 11 ปีขึ้นไป เขาจะพัฒนาการให้เหตุผลในเชิงนามธรรมได้
นั่นก็คือ คนในวัยต่างๆ มีวิธีคิด กระบวนการสร้างความคิดและตรรกวิทยา (การให้เหตุผล) เฉพาะของตัวเอง และความรู้ของมนุษย์เราไม่ได้มาจากโลกภายนอกตัวเรา แต่สร้างมาจากภายในตัวเรา จากการที่เราได้ไปสัมผัสเรียนรู้ตีความ
ไอน์สไตน์เรียกการค้นพบของเปียเจท์ครั้งนี้ว่า มันเป็นเรื่องที่ดูเรียบง่ายมาก ชนิดที่มีแต่อัจฉริยะเท่านั้นที่จะคิดถึงมันได้
เปียเจท์ทำให้เราเข้าใจจิตวิทยาของเด็กเล็กมากขึ้น และมีผลต่อการปฏิรูประบบการจัดการศึกษาเด็กอนุบาลและการศึกษาทั่วไปอย่างสำคัญ ทฤษฎีพัฒนาของเด็กช่วงอายุต่างๆ ของเปียเจท์ได้รับการพิสูจน์จากการวิจัยของนักจิตวิทยาคนอื่นๆในภายหลังว่าถูกต้องเป็นส่วนใหญ่
แม้เปียเจท์จะวิจัยเรื่องจิตวิทยาการคิดของเด็กและเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาหลายเล่ม แต่เขาไม่เคยนับตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาเด็ก เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องทฤษฎีความรู้มากกว่า การวิจัยเรื่องเด็กของเขานำไปสู่การค้นพบทฤษฎีที่กว้างขึ้นในเรื่องการสื่อสารและกระบวรการรู้คิด (Cognition) เพราะว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความคิดจิตใจของเด็ก ทำให้เราเห็นโดยเปรียบเทียบความคิดจิตใจของผู้ใหญ่ได้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่ใช้วิธีคิดแบบเห็นเป็น “โครงร่างใหญ่” ก่อน ผู้ใหญ่เองก็ต้องคิดแบบเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ที่เขาได้รับให้เข้ากับข้อมูลเก่าที่เขามีอยู่แล้ว เขาถึงจะเข้าใจข้อมูลใหม่ๆ ได้
เปียเจท์เป็นผู้พัฒนาความรู้ในสาขาทฤษฎีความรู้เชิงวิวัฒนาการ ศึกษาว่าความรู้ชองมนุษย์วิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในเชิงสัมพันธ์กับข้อมูลใหม่ๆ ที่มนุษย์ได้รับ เขาเห็นว่าความคิดจิตใจเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาในเชิงเปรียบเทียบ ก่อรูปขึ้นในลักษณะที่ว่า ความจริงจะสามารถอธิบายได้ตามภาพของโลกที่แต่ละคนมองเห็นเท่านั้น ดังนั้นระบบการจัดการศึกษา ต้องเข้าใจความแตกต่างของโลกทัศน์ของเด็กแต่ละคน ไม่ใช่แค่การที่ครูป้อนข้อเท็จจริงใส่สมองของเด็กแบบเดียวกัน ทำให้เด็กบางคนไม่สามารถนำข้อมูลใหม่ที่ครูใส่ไปให้ประสานกลมกลืนกับข้อมูลเก่าที่เขามีอยู่ได้
นี่คือตัวอย่าง๑ในหลักคิด ๑๔ หลักคิดที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอเชิงสรุปเนื้อหาที่สำคัญ นักปราชญ์กรีกยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า เน้นให้คนเรารู้จักศึกษาตัวเอง เพื่อที่จะได้มีชิวิตที่มีความสุขและความหมาย การอ่านหนังสือแนวคิดทางจิตวิทยาที่สำคัญ คือการศึกษาหรือกลับมามองตัวเองที่ดีที่สุดทางหนึ่ง