‘Whistleblower’ เมื่อวิถีไทยชนมาตรฐานโลก
เป็นที่โด่งดังอีกครั้งกับคำว่า “Whistleblower” ซึ่งหมายถึงผู้ออกมาเปิดโปงถึงข้อมูลลับภายในที่มีความชอบมาพากล ไม่สุจริต
ผิดข้อบังคับหรือข้อกฎหมาย อันเป็นที่มาของต้นน้ำในกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐ
หลังจากที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐถูกเปิดโปงโดยข้าราชการในหน่วยงานความมั่นคงเอง ว่าแทรกแซงและร้องขอให้ประธานาธิบดียูเครนเพ่งเล็งธุรกรรมของอดีตรองประธานาธิบดี Biden และครอบครัว คู่แข่งคนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงและเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ (Impeachment)
Whistleblower มาจากคำว่า Whistle ซึ่งแปลว่านกหวีด สมาสกับคำว่า Blower ที่แปลว่าผู้เป่า รวมออกมาจึงสื่อถึงผู้เป่านกหวีด เพื่อให้เสียงดังโดดเด่น โดยนัยคือการเตือนภัย ว่ามีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลกำลังเกิดขึ้นกับองค์กร องค์กรสากลไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ล้วนสนับสนุนการกระทำนี้ โดยบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายหรืออยู่ในหลักจริยธรรมขององค์กร เพื่อมุ่งสู่ความเป็นองค์กรที่โปร่งใส่ตรวจสอบได้
Whistleblower หากจะเปรียบด้วยสำนวนไทยก็คงจะหนีไม่พ้นคำว่า “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่คอย “เป็นหูเป็นตา” สอดส่องดูแลให้บ้านนั้นเรียบร้อย สะอาด มีปกติสุขนั่นเอง จะเป็นบ้าน โรงเรียน บริษัท หรือประเทศก็ล้วนแต่ต้องการสุนัขเฝ้าบ้านที่ซื่อสัตย์กับเจ้าของบ้านซึ่งก็คือสมาชิกในครอบครัว โรงเรียนซึ่งก็คือประชาคม เจ้าของบริษัทซึ่งก็คือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของประเทศซึ่งก็คือประชาชนทุกคน
Whistleblower ดูเหมือนจะขัดกับวิถีและค่านิยมแบบเอเชียที่ค่อนไปในทางระบบอุปถัมภ์ พี่ดูแลน้อง ลูกน้องปกป้องเจ้านาย เพื่อนไม่ฟ้องเพื่อน หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม “นิ่งตามน้ำ” ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขององค์กรสู่ความโปร่งใส ความไม่โปร่งใสและการไร้การตรวจสอบส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาขององค์กร ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ที่ทำให้คู่ค้าและลูกค้าระแวงใจ และในทางปฏิบัติอันเอื้อให้เกิดการทุจริตในองค์กร
ตัวอย่างของ Whistleblower ที่โด่งดังคงหนีไม่พ้นนาย Edward Snowden อดีตลูกจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ที่เปิดโปงข้อมูลลับของทางราชการสหรัฐจนต้องลี้ภัยอยู่ในรัสเซียในปัจจุบัน หรือความกล้าหาญของประชาชนคนธรรมดาที่น่าชื่นชมยิ่งอย่าง น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล ลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น จนมีการขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักการและมีความกล้าหาญ
Whistleblower นั้นใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เพราะโดยแท้จริงแล้วทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือรัฐบาล ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานคงอยากจะทราบถึงความไม่ชอบมาพากลหรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตเพื่อกำกับดูแลองค์กรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ในองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศจึงกำหนดความคุ้มครองต่อผู้ที่ออกมาเปิดโปงนั้น
สำหรับองค์กรที่จะนำนโยบาย Whistleblower ไปประยุกต์ใช้นั้นจำเป็นต้องมีช่องทางการร้องเรียนที่ปลอดภัย คณะกรรมการที่มีคุณธรรมยึดผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง และขบวนการหรือระเบียบวิธีในการคุ้มครองผู้ร้องและพยานอย่างแยบยล และมีรางวัลแก่ผู้ร้องเรียน โดยสามารถเรียนรู้และต่อยอดจากรายละเอียดของบริษัทชั้นนำในเมืองไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้
Whistleblower ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาและพักพวกเสียผลประโยชน์ แต่กลับสร้างผลประโยชน์โดยรวมต่อองค์กร เมื่อผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเหล่านี้มารวมตัวกันเป็นพลังที่บริสุทธิ์ก็จะสามารถเอาชนะกลุ่มคนที่เอาเปรียบองค์กรและกำจัดกลุ่มคนเหล่านี้ให้หมดไปได้ แต่จะเริ่มได้ก็ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมของเราก่อน