ขายอาหารสดแบบออนไลน์ มีเทคนิคง่ายๆทำได้อย่างไร

ขายอาหารสดแบบออนไลน์ มีเทคนิคง่ายๆทำได้อย่างไร

ถึงแม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังคงคุ้นชินกับการเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบประกอบอาหารจากตลาดสด ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต

หรือร้านสะดวกซื้อ เพราะมีความต้องการที่จะได้สัมผัส เลือกซื้อด้วยตนเอง เพื่อความมั่นใจในตัวสินค้า แต่ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์ 

จากการเก็บข้อมูลทางการตลาดด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกโดย ภัทร์นฤน สุนันทนาสุข นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาดกับผู้บริโภคที่มีประสบการณ์สั่งซื้ออาหารสดทางออนไลน์ภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์การสั่งซื้ออาหารสดทางออนไลน์ จำนวน 30 คน พบว่า

ในการสั่งซื้ออาหารสดออนไลน์นั้น ในการที่จะเริ่มต้นสั่งซื้ออาหารสดทางออนไลน์นั้น ผู้บริโภคเห็นสินค้าในโฆษณาของ Facebook และถูกดึงดูดด้วยโปรโมชั่นที่น่าสนใจ จึงเป็นจุดเริ่มของการทดลองสั่งซื้อ โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมในการสั่งซื้อประเภทแรกคือ ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ รองลงมาคือ อาหารทะเลสด เช่น แซลม่อน ปลาหมึก และกุ้ง

สำหรับช่วงเวลาของการชอปปิงอาหารสดออนไลน์นั้น พบว่า ช่วงเวลาฮิตที่สุดคือ เวลาหลังเลิกงาน โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้เห็นผลว่า นั่งชอปปิงก่อนดีกว่าจะขับรถไปฝ่ารถติดหลังเลิกงาน

เมื่อเราถามผู้บริโภคถึงสิ่งที่ให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้ออาหารสดออนไลน์ เราพบว่า อันดับแรกผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแบรนด์ รองลงมาคือ ราคา นอกจากนั้น ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับรูปของอาหารสดว่า ให้ความรู้สึกว่า น่าทานมากน้อยแค่ไหน

เมื่อซื้อแล้วผู้บริโภคจัดการกับอาหารสดเหล่านั้นอย่างไร จากการวิจัยเราพบว่า ผู้บริโภคนักช้อปอาหารสดออนไลน์จะเน้นการซื้ออาหารสดที่พร้อมบริโภคทันที และสินค้าสดที่ได้ก็จะนำมาประกอบอาหารทันทีเช่นกัน

สำหรับระบบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ เพราะ ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับระบบการสั่งซื้อที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มีระบบการจัดส่งที่เป็นเวลาแน่นอน รวมถึงมีการแจ้ง Timeline ในการจัดส่งชัดเจน

นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงคือ หากสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งไม่มี ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าที่ใกล้เพื่อเป็นการทดแทนให้ได้ แต่ต้อง Confirm ว่าสินค้านั้นๆมีหรือไม่มีกับผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริโภคที่ไม่มีประสบการณ์การสั่งอาหารสดออนไลน์ จากงานวิจัยพบว่า เหตุผลที่ไม่เลือกซื้ออาหารสดทางออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า กลัวสินค้าไม่ได้คุณภาพ เหมือนสินค้าที่ไปเลือกซื้อด้วยตนเอง จึงต้องการเลือกสินค้าด้วยตนเองมากกว่า

นอกจากนั้น พบว่ายังมีกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ไม่เคยรับรู้ว่ามีการขายอาหารสดทางออนไลน์ แต่ในกลุ่มนี้ ให้ความเห็นว่า หากมีโปรโมชั่นทางออนไลน์ น่าดึงดูดใจก็มีโอกาสจะลองสั่งอาหารสดทางออนไลน์ดู แล รวมไปถึง การมี การรับประกันคุณภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้สนใจจะลองสั่งอาหารสดทางออนไลน์

ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ประกอบการขายอาหารสดออนไลน์ กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีประสบการณ์การซื้อสินค้าแล้ว คือ การให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand ของตนเอง รวมถึงการเลือกสินค้าที่มี Brand มาจัดจำหน่าย เพื่อสร้างความแตกต่าง ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มสินค้าที่มีความพิเศษ เป็นสินค้าใหม่ๆ ที่อาจจะหายาก ไม่ค่อยมีขายในท้องตลาด มีราคาที่เข้าถึงได้ เข้าไปเพื่อเพิ่ม Basket size ของลูกค้า

แต่หากต้องการเจาะตลาดผู้ไม่มีประสบการณ์การสั่งซื้ออาหารสดทางออนไลน์นั้น การโปรโมท โฆษณา ให้ตรงกลุ่ม เพื่อสร้างการรับรู้ ถือเป็นด่านแรก รวมถึงการทำโปรโมชั่นเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้ทดลองช้อป โดยสินค้าที่ควรนำมาทำการโปรโมทคือ ผลไม้ และอาหารทะเล อีกทั้งเน้นเสนอโปรโมชั่นที่ ในช่องทางออฟไลน์ไม่มีในขณะนั้น หรือ ความแตกต่างของสินค้า เช่น เป็นสินค้านำเข้าที่ไม่ได้หาได้ทั่วไป โดยเน้นการโฆษณาใน 2 ช่วงเวลา เพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีเวลา คือช่วงเย็น หลังเลิกงาน ตั้งแต่ 6 โมงเย็น เป็นต้นไป และช่วงบ่ายของวันหยุด เสาร์ อาทิตย์

เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะกังวลเรื่องคุณภาพสินค้า ดังนั้นรับประกันคุณภาพสินค้า และการโปรโมชั่นลดราคาหรือฟรีสำหรับค่าส่งสินค้า จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ และเกิดการตัดสินใจซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

----------------

เครดิต งานวิจัยการตลาดเรื่อง พฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารสดทางออนไลน์ของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร โดย ภัทร์นฤน สุนันทนาสุข มหาบัณฑิตสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล