พฤติกรรมก้าวร้าว ดอกผลของนักเรียนนอก?
วิจารณ์กันสนั่นเมือง เมื่อหนุ่มอดีตนักเรียนฝรั่งเศสระเบิดอารมณ์วิจารณ์ทั้งคู่กรณี ประเทศและสถาบัน
หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่เพื่อนและผู้ปกครองหลายคนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ และพร้อมที่จะลงทุนในการศึกษาของบุตรหลาน มักจะถามผมคือ “ไปเรียนเมืองนอกดีไหม?” ซึ่งปลายอุโมงค์ของผู้ที่เกิดคำถามนี้ขึ้นมักจะมีคำตอบอยู่แล้วในใจว่า อยากที่จะส่งลูกหลานของตนไปเรียนเมืองนอก
“ไปเรียน (เมืองนอก) เมื่อไหร่ดี?” จึงเป็นคำถามที่ 2 ที่ผมมักจะช่วยให้ข้อคิดคำปรึกษาเสมอ และ “อยากได้อะไรจากการส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอก” เป็นคำถามข้อที่ 3 ที่ผมชวนให้คนถามได้คิดเสมอ วันนี้ผมจะมาชวนให้ท่านคิดครับ
ประเทศไทย หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องคือ สยามประเทศของเราตั้งแต่อดีตนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอก เพราะเชื่อว่าวิทยาการความรู้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตกนั้น ดีมีคุณภาพ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นจริงเพราะประเทศไทยได้เลือกพัฒนาตามแบบตะวันตก การพัฒนาประเทศในช่วงแรกเริ่มก็ได้พลังความรู้ความสามารถจากนักเรียนนอกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาวางรากฐานกระทรวง ทบวง กรม พัฒนาประเทศ
ความนิยมในการส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอกจึงเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา นักเรียนนอกส่วนใหญ่ในยุคนั้นก็คือผู้ดีมีตระกูลเพราะมีทรัพย์มาก หรือผู้ที่มีความสามารถเพราะได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ต่อมาจึงได้ขยายสู่ลูกเศรษฐี และคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน
อดีตเรานิยมส่งบุตรหลานไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาจึงเริ่มขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ตามความถนัดความเก่งกาจของประเทศนั้น ๆ เช่น เรียนวิศวกรรมต้องไปเยอรมนี เรียนกฎหมายหรือปรัชญาต้องไปฝรั่งเศส เรียนออกแบบดีไซน์ต้องไปอิตาลี เรียนการจัดการหรือเกี่ยวกับธุรกิจต้องไปสหรัฐ เป็นต้น
“ไปเรียน (เมืองนอก) เมื่อไหร่ดี?” เป็นคำถามที่น่าคิด จากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีเพื่อนที่เรียนเมืองนอกทั้งในช่วงมัธยม ป.ตรี หรือ ป.โทอยู่ไม่น้อย จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า ควรจะส่งไปเมื่อเด็กคิดเองเป็น ดูแลตัวเองได้แล้ว พร้อมทั้งอรรถาธิบายต่อว่า การส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเป็นเวลาแรมปีแต่เล็ก ไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดเสมอไปเพราะเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจในโลก ขาดความเข้าใจในสัจธรรม สภาวะทางอารมณ์ก็ยังไม่ได้ถูกพัฒนามาให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงอันมหาศาลทั้งทางกายภาพและสังคม
เราจึงมักได้ยินคนจบเมืองนอกสบถประจำว่า “ถ้าเป็นที่...นะ” เมื่อประสบพบปัญหาหรือสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ในประเทศไทย หรือกลุ่มแนวคิดว่าประเทศไทยไม่น่าอยู่ เพราะรถติด เพราะคนไม่มีวินัย ทั้งหมดทั้งปวงคือผลผลิตของการส่งบุตรหลานที่ยังคิดไม่ได้ ไร้เดียงสาต่อโลกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เล็ก
ผมมักจะแนะนำให้เริ่มต้นส่งลูกในระยะสั้น เริ่มที่สัปดาห์ ลองเป็นเดือน ลองเป็นเทอม แล้วจึงส่งไปอยู่นานเป็นปีสำหรับผู้ที่ประสงค์ส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอก เพื่อเข้าใจพฤติกรรม และการเติบโตทางอารมณ์ของบุตรหลานของตนว่าพร้อมหรือไม่ และยังสำทับให้กวดขันให้ข้อคิดแก่บุตรหลานเสมอว่า บ้านเมืองนอกและไทยนั้นต่างกัน มีทั้งข้อดีและเสีย จงเลือกข้อดีเพื่อกลับมาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศของเราต่อไป ไม่ใช่หลงระเริงคิดว่าบรรทัดฐานปฏิบัติของเมืองนอกจะมาวัดค่าตัดสินความเป็นไทยและดูถูกประเทศของเรา
คำถามต่อมาที่ผมชวนให้คิดต่อ คือ “อยากได้อะไรจากการส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอก” และมักจะให้ข้อคิดว่า หากอยากจะให้ลูกหลานมาสืบทอดธุรกิจในไทย ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า การไปเรียนป.โทเมืองนอกนั้นเพียงพอแล้ว เพราะการเรียน ป.ตรีในไทยนั้นจะเสริมสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง ป.โทเมืองนอกจะช่วยเปิดโลกทัศน์ และที่สำคัญเพื่อน ๆ เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานมีสังคมมีความสุขที่จะทำงานอยู่ในไทย และในปัจจุบันมีคอร์สมากมายทั้งระยะสั้น กลาง ที่จะช่วยให้ลูกได้พัฒนาภาษาอังกฤษและทักษะในการเอาตัวรอดเสมือนไปเรียนเมืองนอกเป็นระยะเวลานาน ๆ
ในฐานะนักเรียนนอกคนหนึ่ง ผมยึดพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นแนวทางในการย้ำเตือนชีวิต ย้ำเตือนความคิด เตือนสติทุกครั้งก่อนพูดก่อนทำอะไรเสมอ จึงขออัญเชิญมาเพื่อเป็นแนวทางแก่คนไทยทุกคนที่อยากไปเรียนหรือประสงค์ส่งบุตรหลานไปเรียนเมืองนอกครับ
“ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง”