GDP ตัวชี้วัดที่ SMEs ควรทำความเข้าใจ
คำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งที่นิยมเรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า GDP
ซึ่งมาจากคำว่า Gross Domestic Product คือผลรวมมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ
วิธีวัด GDP ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือการวัด GDP ด้านรายจ่าย ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้าน องค์ประกอบแรกคือการการใช้จ่ายด้านครัวเรือน(Consumption) หมายถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการของประชาชน เช่นเสื้อผ้า อาหาร และยา
องค์ประกอบที่สอง คือการลงทุนของภาคธุรกิจ (Investment) หมายถึงรายจ่ายการลงทุนของภาคธุรกิจ เช่น การซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต องค์ประกอบที่สาม คือการใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure)เช่น การสร้างถนนหนทาง การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
องค์ประกอบสุดท้าย คือการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (Net export of Good and Service X-M) คือส่วนต่างระหว่างยอดการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศ
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาได้เรียงลำดับขนาดองค์ประกอบของ GDP ประเทศไทย จากขนาดใหญ่สุดถึงขนาดเล็กสุด ได้แก่ การส่งออกสินค้าและบริการประมาณ 75 % การใช้จ่ายของครัวเรือนประมาณ 55% การลงทุนภาคธุรกิจประมาณ 30% การใช้จ่ายของรัฐบาลประมาณ 14% เมื่อหักลบยอดการนำเข้าสินค้าและบริการประมาณ 74% จะมีมูลค่าประมาณ 11.5 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบ GDP ของประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการสูงมาก โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สูงกว่าสินค้าเกษตรกรรรมกว่า 10 เท่า สินค้าอุตสาหกรรม ส่งออก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์
ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่มีคนทำงาน อยู่ประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็น 30% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ มีส่วนแบ่งจาก GDP เพียง 8% ผลผลิตที่เหลือ 92% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก GDP มากที่สุด กลุ่มเกษตรกร แรงงาน พ่อค้าแม่ค้าจึงเป็นกลุ่มที่ยังคงหนี้ไม่พ้นจากความยากจนมาตลอด แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้ GDP โตขึ้น แตชาวบ้านยังคงบ่นกันว่าเศรษฐกิจฝืดเคือง ค้าขายลำบากมาก
การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อน GDP ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น คาดว่าตลอดปี 2562 การส่งออกจะติดลบถึง 2.8% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ติดลบไปแล้ว 3% ประมาณการว่า GDP ไทยเติบโตเพียง 2.9% เติบโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเชี่ยน รัฐบาลจึงได้ดำเนินโยบายปรับสมดุลเศรษฐกิจ โดยเพิ่มบทบาทการใช้จ่ายของครัวเรือน และการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อให้ GDP สูงขึ้น ทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโครงการชิม ชอบ ใช้ ซึ่งรัฐบาลได้ทำมาตลอด 5 ปี ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาถึงมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ โดยมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนไทยมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 78.7% หากผนวกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเรื่องการศึกษา (กยศ.) และหนี้นอกระบบจะสูงถึง 130% มาตรการนี้คงจะช่วยได้ไม่มาก การใช้จ่ายของรัฐบาลก็มีข้อจำกัดเนื่องจากหนี้ภาครัฐสูงเพิ่มขึ้นทุกขณะ เมื่อต้องเผชิญกับการประกาศระงับสิทธิพิเศษศุลกากร (GSP) รวมมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสินค้าที่อยู่ในข่ายตัด GSP ซึ่งอยู่ในหมวดของกินของใช้ถึง 571 รายการ GDP ไทย ก็ไม่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมากครับ