ไม่หนี ไม่ขยับ โดน Disrupt แน่นอน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเดินสายบรรยายทั้งแบบทั่วไป (public training) และแบบเฉพาะเจาะจงให้กับองค์กรต่างๆเป็นการภายใน (in-house training)
และให้คำปรึกษาแนะนำในโครงการต่างๆให้กับหน่วยงานของรัฐในการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนและยกระดับอัพเกรด SMEs ของไทยให้ตื่นตัวและรับเอาวิทยาการความก้าวหน้าใหม่ๆไปใช้ให้ทันกับยุคสมัยและการแข่งขันที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างต่างออกไปจากยุคเดิม
บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ และบริษัทชั้นนำ ต่างใช้โอกาสจากแนวโน้มโลกและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปมาปรับแนวคิดและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่ โดยพร้อมทิ้งรูปแบบธุรกิจและระบบการทำงานแบบเดิม ด้วยแนวคิดใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพราะรู้ดีว่าถ้าไม่หนี ไม่ขยับ โดน Disrupt แน่นอน และยิ่งช้ายิ่งยากและยิ่งแย่ ลองมาดูกรณีศึกษาเหล่านี้
จาก Computer business สู่ Communication, Content and Lifestyle business เมื่อ Apple Computer Inc. ปรับแนวคิดทางธุรกิจขายสินค้าฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เป็น Apple Inc. ธุรกิจแพลทฟอร์มดิจิทัลคอนเทนท์และการใช้ชีวิตประจำวันแบบใหม่ ผ่านอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก ไร้สาย และเคลื่อนที่ไปได้ทุกหนแห่ง
จาก Postal service สู่ Logistic service จากไปรษณีย์ที่ให้บริการส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เมื่อถึงยุคที่ทุกคนสามารถสื่อสารส่งข้อความถึงกันได้ง่ายในพริบตาแบบทันทีผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลแตกต่างมากมายหลายเวอร์ชั่น ไปสู่การส่งพัสดุสิ่งของขนาดเล็กที่เติบโตหลายเท่าตัวจากการค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะแม้ว่าการสั่งจะออนไลน์แต่การส่งต้องเกิดขึ้นจริง
จาก Convenient store สู่ Convenient service เมื่อค้าปลีกทันสมัยที่ได้ชื่อว่า ร้านสะดวกซื้อ เข้ามาแทนที่ร้านโชว์ห่วยแบบเดิม แต่นั่นอาจไม่เพียงพอกับยุคใหม่ เมื่อใครๆก็ต้องการความสะดวกที่ไม่ใช่แค่สินค้าแต่เป็นความสะดวกในงานด้านบริการ
จาก Cash and card สู่ Code and crypto ธุรกิจการเงินและการธนาคารก็ไม่เว้น เมื่อสาขาไม่ใช่สิ่งจำเป็นและต้องการของคนยุคใหม่ ธุรกรรมการเงินออนไลน์จึงเข้ามาแทนที่ เงินสดและบัตรพลาสติกก็จะค่อยๆหายไปและใช้น้อยลง สิ่งที่มาแทนที่ในยุคนี้คือรหัสในการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะ QR Code หรือเงินสกุลดิจิทัลอย่าง Crypto currency กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จึงเข้ามาแทนที่กระเป๋าจริงที่คนพกพา
จาก Food processing สู่ Food synthesizing เมื่อคนไม่ได้ต้องการกินอาหารเพื่ออิ่มในสามมื้อ หากแต่ต้องการคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า สารอาหารจึงถูกสังเคราะห์ขึ้นในรูปของอาหารเสริมเพิ่มเติมเข้าไปในอาหารหลักระหว่างมื้อ หลายบริษัทผลิตอาหารจึงค้นคว้าทดลองผลิตมัน
จาก Service provider สู่ Solution provider จากธุรกิจบริการแบบเดิมๆที่อาจจะตอบโจทย์แก้ปัญหาพื้นฐานเบื้องต้นได้ สู่การเป็นพันธมิตรที่เข้าไปทำงานเคียงคู่กับลูกค้า ร่วมวิเคราะห์และแก้ปัญหาแบบครบวงจร พร้อมนำเสนอช่องทางวิธีการใหม่ๆที่ตอบโจทย์ตรงใจมากกว่าเดิม
สำหรับบริษัทใหญ่ๆคงไม่ต้องกังวลมาก สิ่งหนึ่งซึ่งยังเป็นกำแพงใหญ่ที่ SMEs ไทยยังก้าวไม่พ้น ข้ามไม่ได้ และยังคงจดจดจ้องจ้อง แม้จะรู้ว่าไฟกำลังลามมาถึง คลื่นยักษ์กำลังจะถาโถมมา แต่เมื่อมองไปข้างหน้าทั้งหมอกทั้งควันยังปกคลุม ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะผลีผลามตามน้ำเพื่อไปลุ้นกับสถานการณ์ในปีหน้า
กรณีศึกษาจากหลายโครงการของรัฐซึ่งพยายามจะเปลี่ยน mindset ของผู้ประกอบการให้ปรับโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิมที่ยังคงสภาพการผลิตในแบบ 2.0 (พึ่งพิงแรงงานเป็นหลัก) ไปสู่การอัพเกรดเครื่องจักรแบบเดิมด้วยการเพิ่มเติมระบบสมองกลฝังตัว (embedded system) ระบบควบคุมอัตโนมัติที่โปรแกรมการทำงานไว้ล่วงหน้าได้ (programmable logic control – PLC) จนไปถึงการเชื่อมต่อเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดสถานะการผลิตให้แสดงผลและควบคุมระยะไกลได้แบบ real time แต่เมื่อฝึกอบรมให้ความรู้จนตื่นตัวและรู้จักการใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อถึงขั้นตอนการตัดสินใจว่าจะลงทุน ส่วนหนึ่งที่พอมีเงินทุนสำรองของตัวเองก็ยังถอยและขอรอดูสถานการณ์ก่อน บางสถานประกอบการก็ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอ แต่ที่เหมือนกันคือต่างไม่แน่ใจว่าลงทุนไปแล้วผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น แต่ออร์เดอร์ไม่มาตลาดไม่มี
ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น โจทย์สำคัญของรัฐบาลคือไม่ใช่แค่ให้ความรู้ปรับความคิด แต่ต้องเสริมความกล้าลดความเสี่ยงให้ SMEs มีแต้มต่อในการลงทุนระบบใหม่ๆด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ในราคาที่รับได้ จะดีไหมถ้าจะใช้งบประมาณให้มหาวิทยาลัยและนักวิจัยภาครัฐ พัฒนาชุดเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ไม่ต้องเยี่ยมยอดแต่ตอบโจทย์ความต้องการเล็กๆของสถานประกอบการได้ ในขณะเดียวกัน SMEs ทั้งหลายต้องกล้าคิด กล้าฝัน กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม