กว่าจะได้ 'ฉายา' ไม่ใช่ 'เรื่องตลก' เช่นกัน!
นายกฯฉุนฉายา รัฐเชียงกง, บิ๊กตู่โวยไม่ตลกด้วยฉายารัฐเชียงกง , บิ๊กตู่งอน-ไม่ขำสื่อทำเนียบตั้งฉายาในรอบ6ปี
ตัวอย่างพาดหัวข่าวสื่อบางฉบับ ซึ่งดูเหมือนว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะ“ออกอาการไม่ปลื้ม” หลังสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายารัฐบาลว่าเป็น “รัฐเชียงกง” ซึ่งสะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจากข้าราชการยุคก่อนและ นักการเมืองหน้าเก่า
เช่นเดียวกันฉายานายกฯ “อิเหนาเมาหมัด” ซึ่งยกคำสุภาษิตไทยว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง เปรียบแนวทางปฏิบัติที่เห็นได้ชัดหลายเรื่องมักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและสุดท้ายก็กลับมาทำเอง เช่น โครงการลักษณะประชานิยม, หรือที่ระบุว่าไม่อยากเล่นการเมือง เป็นต้น
การตั้งฉายาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ6ปี หลังการบริหารงานโดยรัฐบาลคสช.เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวและเพื่อไม่ให้มีผู้หยิบไปเป็นประเด็นขยายผล
เข้าใจว่า การตั้งฉายาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของตัว “ท่านนายกฯ” เองจึงอาจไม่คุ้นชินกับเรื่องดังกล่าว แล้วไม่เข้าใจว่า “ทำไมต้องตั้ง?” , “มันตลกนักหรือ?”
แต่หากเป็นนักการเมืองที่อยู่ในสนามการเมืองมานาน ดังเช่นรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ก็จะรู้ดีว่า การตั้งฉายาถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และเป็นการสะท้อนการทำงานของแต่ละคน(ไม่ได้ตั้งทุกคนแต่เลือกจากบุคคลที่มีบทบาทหรือปรากฏภาพโดดเด่นในการทำงานในปีนั้น)
และการตั้งฉายาก็ได้ระบุหมายเหตุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานรัฐบาล จากประสบการณ์การทำงานที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ โดยมิได้มีอคติหรือเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งหมดเกิดจากมติส่วนรวมของสื่อมวลชน
ขอย้ำว่า “เกิดจากมติส่วนรวม” นั่นหมายถึง ไม่ใช่อยู่ดีๆใครจะมาตั้งอะไรก็ได้ เพราะสื่อเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นกว่าจะได้แต่ละฉายาต้องผ่านขั้นตอนทั้ง “เสนอ-ถก-เถียง-ลงมติเสียงส่วนใหญ่” แต่ละฉายาที่ได้มาก็ไม่ใช่ได้มาเพราะเป็นเรื่องตลกเช่นกัน
สำหรับฉายานักการเมือง นอกเหนือจากฉายาฝ่ายบริหารคือรัฐบาลแล้ว ยังมีในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรัฐสภาซึ่งใช้หลักการเดียวกัน และจะเผยแพร่ออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า แต่ละฉายาที่ได้มาไม่ใช่ได้มาเพราะเรื่องตลก!!