‘กรัมชี-ปิยบุตร’ สงครามศาสดา
วันสิ้นปี “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊คถึงสมาชิกพรรคและมวลชน ปลุกเร้าจิตใจให้กล้าสู้ กล้าเปลี่ยนแปลง
"สภาวการณ์เช่นนี้ คล้ายคลึงกับที่อันโตนิโอ กรัมชี บอกไว้ว่า เมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายแต่ยังไม่ตาย ในขณะที่สิ่งใหม่จะเกิดก็ยังเกิดไม่ได้ วิกฤตการย่อมปรากฏขึ้น
“ผู้ครองอำนาจ พยายามรักษาอำนาจ และสถาปนาอำนาจของพวกเขาฝังตัวไปในระบอบมากขึ้น แต่เรา... ประชาชน ก็ต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ และสถาปนาอำนาจนำใหม่ของพวกเรา”
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ป๊อกกล่าวถึง “ศาสดา” ของชาวอนาคตใหม่ คือ “อันโตนิโอ กรัมชี” นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอิตาเลียนแนวมาร์กซิสม์ และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี
แนวคิดของอันโตนีโอ กรัมชี ได้ชื่อว่าเป็น “มาร์กซิสต์บริสุทธิ์” ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เผยแพร่ลัทธิมาร์กซคนสำคัญในยุคศตวรรษที่ 20
กลางปีที่แล้ว อาจารย์ป๊อกให้สัมภาษณ์ www.the101.world ยอมรับว่า ตอนเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้นำทฤษฎีการเมืองของปรัชญาเมธีหลายคนมาประยุกต์ใช้ และคนแรกคือ อันโตนิโอ กรัมชี
“กรัมชีบอกว่า ถ้าคุณต้องการสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ให้สำเร็จ ต้องทำงานผ่านด้าน Civil Society เป็นหลัก ใช้อำนาจอ่อน (soft power) ทำให้คนเชื่อและปฏิบัติตาม คิดเองอยู่แล้วว่าต้องทำ โดยที่ไม่ต้องใช้กลไกรัฐเข้าบังคับ แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจนำเริ่มสั่นคลอน คนเริ่มไม่ฟัง ไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตาม รัฐก็ต้องหันมาใช้ด้าน Political Society เพื่อปราบปราม”
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมในแนวคิดของกรัมชี มีสองรูปแบบคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการผูกขาดทางความคิดของชนชั้นปกครอง รูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐผ่านการปฏิวัติสังคมนิยม
สำหรับเมืองไทย อาจารย์ป๊อก เลือกแนวทาง “สงครามทางจุดยืน” เปลี่ยนชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ เพราะการสู้รบแตกหักด้วยกำลัง มิสามารถกระทำได้
พรรคอนาคตใหม่ มีภารกิจสำคัญในการหลอมรวมความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของคนทุกกลุ่มทุกประเภท อันเป็นผลพวงจากระบบโครงสร้างอำนาจ คสช. มาเป็นความต้องการของสังคม (Social Demand)
สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังดำเนินการควบคู่กับการต่อสู้ในรัฐสภาคือ การสร้างขบวนการประชาสังคม(Civil society)นอกสภา
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จึงประกาศว่า “ปี 2563/2020 จะต้องเป็นปีแห่งการต่อสู้ของประชาชน คนส่วนใหญ่-คนธรรมดา ผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้ นี่คือ ห้วงเวลาประชาชนเป็นใหญ่นี่คือ โอกาสสำคัญในการเข้าช่วงชิง”
พลังทางการเมืองของแต่ละฝ่ายเริ่มอ่อนแรงลง มันจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการสถาปนาอำนาจนำใหม่ตามทฤษฎีของศาสดากรัมชี