ลงทุนการศึกษาอย่างไรให้คุ้มทุน?
เพราะการศึกษาคือการลงทุน วันนี้ผมจึงจะอรรถาธิบายถึงหลักคิด ให้เป็นตัวช่วยเพื่อตอบคำถามในใจเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน
และเพื่อให้การลงทุนในการศึกษาของบุตรหลานนั้นคุ้มค่าที่สุด
ผมได้กราบสวัสดีและอวยพรปีใหม่พ่อแม่ผู้ปกครองที่เคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อและเคยพาบุตรหลานไปศึกษาระยะสั้นที่ต่างประเทศ สิ่งที่ผู้ปกครองที่มักจะถามถึงคือเรื่องของการศึกษาของลูกหลาน จะให้เข้าโรงเรียนไหนดี? จะให้ไปเรียนเมืองนอกดีไหม? ให้ไปเรียนเมืองนอกที่ไหนและเมื่อไหร่ดี?
ทราบหรือไม่ว่าการจะเตรียมการศึกษาให้ลูกนั้นต้องมีการวางแผน เพราะโรงเรียนชั้นดีอันเป็นที่นิยมนั้นมีจำนวนไม่มาก เตรียมทั้งในเรื่องของเงิน ทั้งเรื่องของฝึกฝนวิชาการลูกเพื่อเตรียมสอบ หรือแม้กระทั่งเตรียมตัวผู้ปกครองเองเพราะหลายโรงเรียนได้ใช้เกณฑ์นี้ในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนด้วย
เข้าโรงเรียนไหนดี? นอกจากชื่อเสียงและทำเลสถานที่ตั้งที่จะต้องพิจารณาแล้ว ยังควรจะมองถึงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของโรงเรียนนั้น ๆ ด้วย เช่น โรงเรียนนานาชาติดีที่มีค่าเทอมที่สูง ย่อมแลกมาด้วยภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยม โรงเรียนเอกลักษณ์พิเศษหรือโรงเรียนวิถีต่าง ๆ ที่เน้นภาคการใช้ชีวิตมากกว่าวิชาการ เช่น โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนที่เน้นกีฬาหรือระเบียบวินัย ก็อาจต้องแลกมาด้วยความอ่อนแอทางวิชาการ โรงเรียนที่เน้นวิชาการ ก็อาจต้องแลกมาด้วยความเครียดก่อนวัยของเด็ก
สิ่งที่พ่อแม่ควรจะทำการบ้านเพิ่มเติมคือ ควรเข้าใจถึงปรัชญาและแนวทางของโรงเรียน ตลอดจนเนื้อหาทางวิชาการที่โรงเรียนนำมาใช้สอน เพราะการแห่เข้าโรงเรียนตามคนอื่นโดยที่ไม่ได้ดูความเหมาะสมของบุตรหลานตนเองนั้นนอกจากจะทำให้เสียเงิน และเสียเวลาฟรีแล้ว บุตรหลานก็ไม่มีความสุข
การส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเป็นโอกาสและการลงทุนที่ดี แต่ควรพิจารณาช่วงวัยและระยะเวลาในการส่งไปเรียนให้เหมาะสม ในทางจิตวิทยาและพัฒนาการของเด็ก สมองและร่างกายของเด็กจะเริ่มพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่อเข้าสู่อายุ 10-12 ปี ดังนั้นวัยนี้เป็นวัยที่เหมาะจะส่งไปศึกษาหาประสบการณ์ในต่างแดน การไปเรียนระยะสั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของช่วงวัยนี้เพราะช่วงวัยนี้ เพราะเด็กยังต้องการการกล่อมเกลาของผู้ใหญ่ ชี้แนะแนวทางในการดำรงชีวิตและเข้าใจโลกภายใต้บริบทของสังคมไทย
ดังนั้น การส่งไปเรียนระยะยาวตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 16 ปีนั้น ถือเป็นการเดิมพันที่จะแลกทุกอย่างที่พ่อแม่สามารถอบรมบ่มเพาะนิสัยของลูกหลานกับความสามารถในการดูแลตัวเองการเอาตัวรอด ภาษาอังกฤษในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งพ่อแม่ควรคิดให้ถี่ถ้วน
อีกปัญหาหนึ่งที่น่าหนักใจสำหรับพ่อแม่ที่ต้องการลงทุนในการศึกษาของลูก คือ แล้วจะส่งไปเรียนที่ประเทศไหน เมืองใดดี? นอกเหนือจากเรื่องของความปลอดภัยและโรงเรียนในต่างแดนแล้ว ผมแนะนำว่าให้ศึกษาพูดคุยกับผู้รู้ ถ้าจะให้ดี ก็ควรถามจากผู้ที่เคยอยู่ในเมืองนั้น ๆ หรือประเทศนั้น ๆ มาก่อน เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส นั้นมีอันตรายสูงจึงควรโฟกัสที่เมืองขนาดกลางที่มีความเจริญพอตัว เพราะนอกเหนือจากความเสี่ยงที่น้อยลง เด็กยังจะได้เปิดหูเปิดตาเมือง พิพิธภัณฑ์ และอาจจะเป็นไอเดียทางธุรกิจในอนาคต
พ่อแม่ควรพิจารณาโรงเรียน ครอบครัวอุปถัมภ์และเมืองที่ลูกจะไปอยู่ให้ดี เพราะแต่ละเมืองมีข้อดีและด้อย อาทิ หากเมืองนั้นเป็นชนบทที่เล็กเกินไป เด็กอาจจะเบื่อและคิดถึงบ้านได้ง่าย บางประเทศหรือบางเมืองมีอากาศที่ไม่ดี ขมุกขมัวฟ้าครื้มตลอดเวลาก็เอื้อต่อความซึมเศร้าได้ง่าย และก็ควรพิจารณาถึงโรงเรียนว่ามีหลักสูตรเช่นไร เหมาะกับเด็กหรือไม่ อัตราส่วนของนักเรียนท้องถิ่นเป็นเท่าไหร่ เพราะในปัจจุบันนักเรียนชาวเอเชียมีอยู่มากในต่างแดนเพื่อประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่สุด
เพราะการศึกษาคือการลงทุน การพิจาณาเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับเด็กจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ควรสอบถามพูดคุยกับผู้รู้หลาย ๆ คน การเชื่อข้อมูลจากเพียงแหล่งเดียวคือการเพิ่มความเสี่ยง ความไม่รู้นำมาซึ่งความเสี่ยง สามารถถูกขจัดออกได้ด้วยความเข้าใจจากการอ่าน การฟัง และการถามครับ