ได้ยิน “บิล เกตส์” หรือยัง?
เมื่อเอ่ยชื่อ “บิล เกตส์” ชาวไทยส่วนใหญ่คงพอได้ยินเรื่องราวของเขาบ้างอย่างน้อยเป็นบางส่วน อาจเป็นด้านการเป็นอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล
ผู้สร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ ด้านการเป็นอภิมหาเศรษฐีลำดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือด้านการบริจาคทรัพย์สินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการช่วยชาวโลกพร้อมกับประกาศว่าจะบริจาคต่อไปโดยเก็บไว้ให้ทายาทเพียง 5%
โครงการช่วยชาวโลกของบิล เกตส์ครอบคลุมหลายด้านรวมทั้งการต่อสู้กับโรคร้าย แม้จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคร้ายหลายอย่าง แต่เขาออกมาเตือนชาวโลกว่าเราต่างตั้งอยู่ในความประมาทมากเนื่องจากเราไม่พร้อมรับมือกับเชื้อโรคร้ายใหม่ๆ ซึ่งจะอุบัติขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในการให้สัมภาษณ์หลังการบรรยายในการประชุมใหญ่เกี่ยวกับมาลาเรียที่นครลอนดอนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2561 บิล เกตส์ เตือนว่าอีกไม่นาน โรคร้ายจะระบาดอย่างแพร่หลายไม่ต่างกับเหตุการณ์ระหว่างปี 2461-2463 ครั้งนี้มันจะทำให้ชาวโลกตายราว 30 ล้านคนภายใน 6 เดือน
บิล เกตส์ อ้างถึงเหตุการณ์ใหญ่เมื่อศตวรรษที่ผ่านมาซึ่งชาวโลกเรียกกันว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” เพราะสเปนไม่ปกปิดความจริงของโรคระบาดครั้งนั้น ต่างกับมหาอำนาจที่สู้รบกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งอำพรางความจริง เนื่องจากการเก็บข้อมูลในยุคนั้นไม่กว้างขวางและละเอียดดังในสมัยนี้ จึงยืนยันไม่ได้อย่างแน่นอนว่าไข้หวัดใหญ่ซึ่งระบาดไปทั่วโลกครั้งนั้นทำให้คนตายไปเท่าไร ตัวเลขที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ 50-100 ล้านคน หรือราว 3-5% ของจำนวนประชากรโลก
บิล เกตส์มองว่าแม้เราจะก้าวหน้าเพียงไรในด้านแพทย์ แต่เราไม่สามารถคาดได้ว่าเชื้อโรคร้ายใหม่จะอุบัติขึ้นเมื่อไร สภาพไร้พรมแดนของโลกปัจจุบันและการขาดการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าอย่างเพียงพอจะเอื้อให้เชื้อโรคใหม่ระบาดไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและคร่าชีวิตคนได้จำนวนมากก่อนที่ชาวโลกจะไหวตัว เขาเน้นว่าเขามองโลกในแง่ดีที่คิดว่าโรคระบาดใหม่อาจทำให้ชาวโลกตาย 30 ล้านคนใน 6 เดือน แต่เขาไม่ได้บอกว่าถ้ามองในแง่ร้าย ผลจะออกมาอย่างไร หากลองคิดง่าย ๆ ตามอัตราการตาย 3-5% ของปราชากรโลกในการระบาดของไข้หวัดสเปน ผลจะออกมาว่าในยุคนี้ชาวโลกอาจตายถึง 200-350 ล้านคน จำนวนนี้ยากที่จะจินตนาการ ฉะนั้น จะฟังเพียงการมองได้แง่ดีของบิล เกตส์ ก็ได้ แต่ควรคิดต่อไปว่าควรจะทำอะไรกันบ้าง
สำหรับในระดับบุคคล การรักษาสุขภาพไว้ให้แข็งแกร่งย่อมเป็นกิจสำคัญอันดับแรก เนื่องจากเป็นไปได้สูงว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนขณะนี้ และของอีโบลาครั้งล่าสุดในแอฟริกามาจากการกินค้างคาว หรือเนื้อสัตว์ป่า ฉะนั้น การป้องกันต้องมาจากการเลิกกิจกรรมจำพวกเปิบพิสดารโดยเฉพาะอาหารป่า
สำหรับในระดับนโยบาย เรื่องการเตรียมตัวคงทำได้หลายระดับ การระบาดของของไวรัสโคโรนาในปัจจุบันและอีกหลายอย่างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา น่าจะให้บทเรียนอย่างดีแล้วว่าควรทำอะไรบ้าง หากฟังบิล เกตส์ “ได้ยิน” แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว เรายังมีเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระยะยาวที่เราควรพิจารณาว่าจะลดความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง หลายครั้งคอลัมน์นี้พูดถึง 2 เรื่องคือ การลดความแออัดของสภาพในกรุงเทพฯ โดยการย้ายสำนักงานราชการส่วนกลางออกไปไว้ ณ เมืองสร้างใหม่ ณ วันนี้ยังไม่มีใครฟัง หรือฟัง แต่ไม่ได้ยิน
อีกเรื่องหนึ่งได้แก่ความเสี่ยงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนภาคท่องเที่ยวจนเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดมานานและยังสนับสนุนให้ขยายต่อไปในอัตราสูง ตามธรรมดาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีภาคหนึ่งภาคใดใหญ่มากก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ความเสี่ยงนั้นยิ่งสูงขึ้นอีกเมื่อการท่องเที่ยวเป็นภาคใหญ่ที่สุด ทั้งนี้เพราะการท่องเที่ยวเป็นการบริโภคที่ไม่มีความจำเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตและอาจถูกปัจจัยภายนอกที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ต้องยุติลง เช่น ไวรัสโคโรนาในปัจจุบัน
การไม่ฟังเสียงนกเสียงกาที่ส่งมาทางคอลัมน์นี้อาจไม่มีผลเสียหายมาก แต่หากไม่ฟังบิล เกตส์ ความเสียหายจะใหญ่หลวงเกินคาด