3 วิธีรับมือข่าวปลอม (Fake news)

3 วิธีรับมือข่าวปลอม (Fake news)

ภัยจากข่าวปลอมเป็นอีกภัยที่ท้าทายสังคมไทยและโลก ข่าวปลอม (Fake news) สร้างความตื่นตระหนกทำให้การจัดภัยพิบัติยากยิ่งขึ้น ไม่เป็นผลดีกับสังคม

วันนี้ผมมีคำแนะนำในการจัดการกับข่าวปลอมเหล่านี้ครับ

เมื่อเราอยู่ในประเทศและโลกที่ข้อมูลข่าวสารมันมากมายเหลือคณานับ และโลกออนไลน์มีบทบาทและส่งอิทธิพลอย่างมากในการรับข้อมูลข่าวสาร เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโลกเสมือนแห่งนี้ที่มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง

ประชากรไทยเกือบ 69 ล้านคนนี้ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 57 ล้านคน โดยใช้ Facebook กว่า 53 ล้านและผ่านไลน์กว่า 44 ล้านคน ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าช่องทางที่ข่าวปลอมมักจะใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้เสพสื่อคือ 2 ช่องทางนี้

การจัดการข่าวปลอมนั้นเริ่มต้นที่ผู้บริโภคสื่อที่ควรแยกแยะโดยใช้วิจารณญาณ และใช้สติทุกครั้งก่อนการส่งต่อหรือแชร์บทความหรือข่าวนั้น ๆ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของสหรัฐอย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แนะนำถึงการสังเกตและจับผิดข่าวปลอมเหล่านี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมดังนี้

1. เช็คแหล่งที่มาของข่าว ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ สำนักพิมพ์ ผู้เขียน หรือการอ้างอิงทางวิชาการ เช่น หากเป็นข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพก็สมควรมีข้อมูลอ้างอิงทางการแพทย์หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์หลายแห่งมีการตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงผู้อ่าน เช่นเดียวกับมิจฉาชีพที่มีความพยายามทำให้ตนเองมีความคล้างคลึงกับต้นฉบับมากที่สุด

ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัด เพราะคนเราล้วนมีอคติ ดังนั้นควรต้องฟังอย่างมีสติและจึงนำไปคิดและเปรียบเทียบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ในปัจจุบันทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น สหรัฐ สื่อหลายสื่อก็ขาดความเป็นกลาง โน้มเอียงทั้งในประเด็นการเมืองหรืออื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเป็นเจ้าของสื่อของนักการเมืองและนักธุรกิจ พออ่านจบ ให้เช็คกับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ด้วยว่ามีการลงข่าวในเรื่องเดียวกันหรือไม่ เพราะหากเป็นข่าวใหญ่หรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือจริง ต้องมีแหล่งข่าวหรืออ้างอิงมากกว่าหนึ่งแน่นอน

ช่องทางวิธีการที่เราเห็นข่าวอย่างไรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณา เห็นจากการแชร์ของเพื่อน อยู่ดี ๆ เห็นจากเว็บไซต์ที่โผล่มาในเฟซบุ๊ค เพราะไม่มีคำว่าบังเอิญในโลกออนไลน์ปัจจุบัน ทุกอย่างล้วนถูกกำหนดโดยคนหรือหุ่นยนต์ AI เช่นเดียวกับสินค้าหรือบริการที่เราลองกดหาในอินเทอร์เน็ต และไม่นานก็จะเห็นมันปรากฏอยู่ในหน้าเฟซบุ๊คของเรา เป็นต้น

2. สังเกตและจับผิดเนื้อหาของข่าว ว่าเป็นเนื้อหาซ้ำ ข่าวเก่า ภาพหรือคลิปเดิม หรือตัดแปะจากแหล่งอื่นหรือไม่ ให้ระวังเนื้อหาที่ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ การพาดหัวข่าวที่ดูน่าสนใจ อย่างล่าสุดมีการแชร์คลิปการเดินตลาดแห่งหนึ่งที่มีการค้าขายสัตว์ป่าและดูแล้วสุขอนามัยไม่สู้ดีนักโดยผู้ที่เผยแพร่คลิปบอกว่าเป็นตลาดที่อู่ฮั่น แต่หากสังเกตให้ดี การแต่งกายของพ่อค้าแม่ขายตลอดจนผู้ซื้อนั้นไม่เหมือนคนอยู่ในแถบบ้านเมืองหนาว หรือป้ายประกาศต่าง ๆ ที่ไม่มีภาษาจีน สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ล้วนชวนให้สงสัยทั้งสิ้น

3. พูดคุยสอบถามผู้รู้ เพราะการอ่านข่าวจากแหล่งเดียวที่ไม่รู้จัก ในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะไม่ใช่ข่าวจริง ดังนั้นการสอบถามจากผู้รู้ หรือแหล่งข้อเท็จจริงจึงเป็นอีกวิธีในการแยกข่าวปลอมออกจากข่าวจริง

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐพูดถึงเหยื่อของข่าวปลอมที่มักจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กหรือผู้มีการศึกษาที่จำกัด และผู้อ่านทุกคนที่มีอคติเป็นทุนเดิม ยิ่งถูกโน้มน้าวได้ง่าย อคตินี้ทางวิชาการเรียกว่า Confirmation bias ที่มักจะโน้มน้าวผู้มีอคติประเภทเป็นทุนเดิมให้เชื่อในสิ่งที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อดั้งเดิมอยู่แล้วได้ง่าย

การบริโภคข่าวในปัจจุบันจึงต้องใช้สติและปัญญา ไม่เชื่อโดยง่าย แชร์ได้เมื่อมั่นใจ มิเช่นนั้นนอกจากจะตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมแล้ว ยังทำให้สถานการณ์แย่ลงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์