ศึก 2 ขั้ว 'อสมท' 3 ปมใหญ่ถึง 'ผอ.'
"..เกิดศึกใน อสมท แบ่งกรรมการ เป็นสองกลุ่มก้อนใหญ่.."
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดหมายวันที่ 16 ก.พ.นี้ เปิดให้ “เอกชน” เข้าร่วมประมูลคลื่น 5G แต่ศึกกรณีค่าชดเชยเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่กสทช.ต้องชำระให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยังไม่จบ
โดย “บอร์ดกสทช.” นัดประชุมพิเศษในวันที่ 12 ก.พ. เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนการประมูล 5G จึงเร่งให้ คณะอนุกรรมการพิจารณาการเยียวยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอค่าชดเชยเยียวยาให้กับ “อสมท-เอกชน” ภายในสัปดาห์นี้
แม้ก่อนหน้านี้ทาง จุฬาฯ จะเสนอค่าชดเชยเยียวยามาแล้ว แต่ยังอยู่ในราคาที่สูงเกินกว่าที่ “กสทช.” ตั้งเป้าเอาไว้
ความเห็นต่างเกี่ยวกับค่าเยียวยาคลื่น 2600 MHz ทำให้เรื่องคาราคาซัง และเกิด “ศึกในอสมท” แบ่งกรรมการ เป็นสองกลุ่มก้อนใหญ่ กลุ่มแรก ยืนข้างผอ.เขมทัตต์ พลเดช และกลุ่มสอง ฝ่ายรัฐมนตรีที่กำกับดูแล โดยมีสหภาพแรงงานฯอสมท เห็นด้วย
กลุ่มแรกนั้น แน่นอนมองว่าการเมืองกำลังเข้ามาล้วงลูกปมคลื่น อย่างที่ “บทความเคลื่อนไหว” รายงานไปแล้ว แต่ฝั่งกำกับดูแล ทางการเมือง มองว่าหากปล่อยให้ดำเนินตามแนวทาง ผอ. องค์กร เสียหาย เอื้อเอกชน อย่างน้อยเกิดข้อสงสัย 3 ปมใหญ่ เริ่มจาก 1.วงเงินที่ที่เสนอเยียวยาจาก กสทช.นั้น ยังไม่ผ่านการรับรองของบอร์ด 2.การแต่งตั้งประธานบอร์ดนั้น วาระไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และ 3.การนำเงินที่ได้รับจากการเยียวยา นั้นการแบ่งให้เอกชนโดยอัตโนมัติ อาจจะไม่ถูกต้องและเป็นการเอื้อต่อเอกชน เพราะถึงแม้จะทำสัญญาตั้งแต่ปี 2553 แต่เอกชนเพิ่มมาดำเนินธุรกิจเมื่อไม่นาน
เพราะการเยียวยานั้น จะเกิดสองส่วน เริ่มจาก อสมท ควรได้รับการเยียวยาที่สมน้ำสมเนื้อ ในฐานะผู้ครอบครองคลื่นมาตั้งแต่ปี 2532 สมัย “เคเบิลทีวี” โดยมีมาตรฐานจากการจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ กสทช.เคลียร์ไปก่อนหน้านี้
อีกส่วนก็คือการให้บริการเพย์ทีวี ที่ “อสมท” ทำสัญญากับเอกชน ในการใช้เทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA) บนคลื่น 2600 MHz เพื่อหารายได้มาตั้งแต่ปี 2553 อันเป็นสัญญาสัมปทานอายุ 15 ปี
ส่วนบทจบนี้ อย่างไร น่าคิด....เมื่อ ผอ.กับฝ่ายการเมือง คิดกันคนละทาง เห็นกันคนละอย่าง !!!