เทียบการกระจายหน้ากากอนามัย 'สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย'
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่นของจีน จนตอนนี้แพร่ขยายลุกลามไปกว่า 27 ประเทศทั่วโลก
ถือเป็นภัยโรคระบาดที่คนทั่วโลกร่วมกันเผชิญ และเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลในหลายประเทศ
ผมอยากจะยกกรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย ไต้หวัน และสิงคโปร์ ว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นมีนโยบายและมาตรการการจัดการวิกฤติอย่างไร เพื่อเรียนรู้ข้อเด่นศึกษาข้อด้อยมาปรับใช้กับประเทศไทยที่รักของเราต่อไป
การจัดการและบริหารบ้านเมืองในภาวะวิกฤติแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำและการนำนโยบายไปปฏิบัติของทุกภาคส่วน ที่สำคัญจำเป็นต้องพิจารณาถึงกรอบเวลา เพราะการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังถือเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการบริหารวิกฤติ
ทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 23 ม.ค. รัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มอพยพพลเมืองกลับสู่มาตุภูมิ มีการตั้งศูนย์กักกันโรคตามมาตรฐานสากลเพื่อยับยั้งการแพร่กระจาย แต่สิ่งที่หลายประเทศในเอเชียเผชิญปัญหาพร้อมกันคือ ภาวะขาดแคลนของหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
วันที่ 30 ม.ค. รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแจกหน้ากากอนามัยจำนวน 5.2 ล้านชิ้น แก่ทุกครัวเรือน ๆ 4 ชิ้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างครอบคลุมพลเมืองเกือบทุกคนในประเทศ โดยในทางปฏิบัติได้สั่งระดมทหาร 1,500 นายในวันรุ่งขึ้นหลังจากประกาศนโยบายในการบรรจุและจัดส่งหน้ากากแก่พลเมือง โดยคาดว่าจะจัดส่งแล้วเสร็จทั้งหมด 1.9 ครัวเรือนภายในวันที่ 9 ก.พ.
ในวันเดียวกันนั้น (30 ม.ค.) ที่ไต้หวัน ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เข้ามาบริหารประเทศต่อได้ออกประกาศว่า จะผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้อีกวันละ 4.2 ล้านชิ้นหรือคิดเป็น 17.5% ของจำนวนประชากร เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรไต้หวันที่ประมาณกันว่ามีจำนวนเกือบ 24 ล้านคน โดยหากผลิตในอัตรานี้แล้ว ภายในระยะเวลา 6 วัน ประชาชนทุกคนในไต้หวันน่าจะเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้
เพราะจำนวนประชากรมาก ไต้หวันจึงแจกจ่ายหน้าอนามัยฟรีโดยจำกัดเพียง 1.4 ล้านชิ้นแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในส่วนของประชาชนนั้น รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาหน้ากากอนามัยแพงโดยการเพิ่มจำนวนหน้ากากเข้าในตลาดจำนวน 6 ล้านชิ้น กำหนดให้ขายชิ้นละ 6 บาท กำหนดให้ประชาชน 1 คน ซื้อได้ 3 ชิ้นเท่านั้น และห้ามส่งออก โดยนโยบายทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.
หนึ่งอาทิตย์หลังจากไต้หวันและสิงคโปร์มีมาตรการข้างต้น วันที่ 6 ก.พ. รัฐบาลไทยเริ่มแจกหน้ากากอนามัยจำนวน 45,000 ชิ้นแก่ประชาชนทั่วไปตามจุดต่าง ๆ หรือคิดเป็น 0.07% ของประชากรไทยกว่า 69 ล้านคนและมีมาตรการต่าง ๆ รับมือภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด เช่น ประกาศหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม จำกัดการซื้อได้คนละ 10 ชิ้นและห้ามส่งออก
และมีการเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1.4 ล้านชิ้นต่อวัน หรือคิดเป็น 2% ของจำนวนประชากร และหากผลิตในอัตรานี้ภายใต้ภาวะสินค้าขาดตลาดที่ไม่มีสินค้าคงคลังหรือนำเข้าได้ยาก เพราะทุกประเทศก็ต่างประสบปัญหาเดียวกันแล้วนี้ จะต้องใช้เวลากว่า 49 วันกว่าที่จะมีหน้ากากอนามัยพอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน ไม่นับรวมเวลาการแจกจ่ายอีก
สรุปแล้วสิงคโปร์เพราะมีประชากรที่น้อย รัฐบาลจึงสามารถจัดการภาวะวิกฤติหน้ากากอนามัยขาดตลาดได้ไวที่สุด ถึงมือประชาชนทั่วไปได้เร็วมากภายในระยะเวลา 7-14 วันหลังอู่ฮั่นประกาศปิดเมือง ขณะที่ไต้หวันที่มีประชากรไม่น้อย ก็จัดการได้เร็วเช่นกันคือภายในใกล้เคียงกัน ขณะที่ไทยนั้นค่อนข้างช้า คือกว่าจะเริ่มมาตรการก็ผ่านไปแล้วกว่า 14 วัน และกำลังผลิตก็ไม่เพียงพอกับประชากรที่มาก
ภายใต้ภาวะวิกฤตินี้ รัฐบาลใน 3 ประเทศล้วนมาจากการเลือกตั้ง แต่การจัดการปัญหาและบริหารบ้านเมืองภายใต้ภาวะวิกฤตินั้นต่างกัน สมควรเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อย ยอมรับและนำมาพัฒนาปรับปรุงเพื่อแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้และในโอกาสหน้าต่อไป