Post-Brexit:โอกาสและผลกระทบต่อไทย

Post-Brexit:โอกาสและผลกระทบต่อไทย

หัวข้อที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องBrexitที่กำลังได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก

โดยภายหลังจาก 3 ปีครึ่ง แห่งความวุ่นวายที่ยืดเยื้อ ภายหลังการลงประชามติในปี 2559 ท้ายที่สุดเหตุการณ์ Brexit ก็ได้เกิดขึ้น โดยสหราชอาณาจักร(อังกฤษ)ได้สิ้นสุดสถานะการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู) อย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 หลังจากที่เป็นสมาชิกมายาวนานถึง 47 ปี

อังกฤษก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน

การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จากการแยกตัวจะยังไม่เกิดขึ้นทันที เพราะอังกฤษมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน(Transition period) 11 เดือน(นับจาก 31 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2563) เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของทั้ง 2 ฝ่ายสามารถปรับตัว โดยระหว่างนี้อังกฤษและอียูจะต้องกำหนดรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างกัน และอังกฤษจะยังคงอยู่ในระบบตลาดเดียว(single market) และสหภาพศุลกากร(customs union) ของอียูกล่าวคือ สินค้าการบริการเงินทุนและประชาชนยังสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีระหว่างอียูกับอังกฤษ นอกจากนั้น อังกฤษจะยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอียูและพันธกรณีต่างๆ ที่อียูมีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงความตกลงภายใต้กรอบ WTO และ FTA กับประเทศที่ 3 ด้วย อย่างไรก็ดี อังกฤษจะไม่มีผู้แทนในสถาบันของอียูและไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของอียู ตลอดจนยังต้องจ่ายค่าออกจากการเป็นสมาชิกอียูประมาณ 34 พันล้านปอนด์

ทิศทางในอนาคตของทั้งสองฝ่ายรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

ปัจจุบันทั้ง 2 ฝ่ายได้กำหนดกรอบเป้าหมายการเจรจาคร่าวๆ ในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยนอกจากเรื่องการค้าซึ่งมีประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่ต้องตกลงกัน เช่น การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองข้อมูลการขนส่งและการบินรวมถึงเงื่อนไขเรื่องประมงแล้วนั้น อียูและอังกฤษยังต้องเจรจาตกลงกันในเรื่องความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ในอนาคตด้วย เช่น ความร่วมมือด้านความมั่นคงและกลไกความร่วมมืออื่นๆ โดยหลังจากนั้นอาจมีการเจรจาจัดทำความตกลงเสริม สำหรับประเด็นที่ไม่สามารถเจรจาได้ทันในช่วง 11 เดือน

ก่อนที่การเจรจาครั้งแรกจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มี.ค.นี้ นายMichel Barnier หัวหน้าคณะเจรจาอียูได้ยื่นข้อเรียกร้องการเปิดตลาดการค้ากับอังกฤษในระดับ “ทะเยอทะยาน” กล่าวคือให้คิดภาษีเป็น 0% และไม่มีการกำหนดโควตา และอียูยังเรียกร้องให้อังกฤษเปิดเสรีภาคบริการหลากหลายสาขา เช่น บริการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมการบริการด้านสิ่งแวดล้อม การค้าดิจิทัล ตลอดจน ทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย

นอกจากนั้นเพื่อป้องกันมิให้อังกฤษแสวงประโยชน์จากการลดมาตรฐานต่างๆ ลง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า อียูยังได้วางเงื่อนไขการเจรจาที่จะต้องรักษา “การแข่งขันที่เป็นธรรม” (level-playing field) โดยประเด็นที่อียูให้ความสำคัญ คือ เรื่องการห้ามมิให้มีการทุ่มตลาด เรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานของด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม ภาษีการอุดหนุนจากรัฐ รวมถึงการยอมให้อียูเข้าไปทำประมงในน่านน้ำอังกฤษต่อไป

ฝ่ายนายBoris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ออกมาประกาศเช่นกันว่า อังกฤษต้องการเลือกที่จะออกจากทั้งระบบตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของอียูเพื่อให้อังกฤษมีอิสระในการกำหนดนโยบายการค้าของตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยมีการอ้างถึงรูปแบบความตกลงFTA อียู-แคนาดา และอียู-ออสเตรเลีย(ความตกลง FTA อียู-ออสเตรเลีย ยังอยู่ระหว่างการเจรจา) และยังไม่ต้องการยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมอียูอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการเจรจาระหว่างสองฝ่ายต่อไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีเวลาในการเจรจารูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวเพียง 11 เดือน ซึ่งหมายถึงโอกาสการเกิด No-deal Brexit ยังมีอยู่ แต่นาย Boris Johnson กล่าวว่าจะไม่ขอเจรจากับอียูเพื่อขยายช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านออกไป ดังนั้นจะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการขอขยายเวลาเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ซึ่งจะต้องกระทำภายในวันที่ 1 ก.ค.2563

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อังกฤษยังสามารถเริ่มเจรจาความตกลงการค้าใหม่ๆ กับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จลุล่วงทันเวลาข้อตกลงการค้าเหล่านี้ก็จะมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงการเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลง

โอกาสและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินในชั้นนี้ว่า ผลกระทบโดยตรงของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยนั้นค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสถานการณ์การค้าระหว่างอังกฤษและประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยยังคงเป็นไปตามกฎระเบียบเดิม โดยไม่มีการปรับอัตราภาษีใดๆ แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์และยูโรที่อาจมีการอ่อนค่าลง

ในปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอังกฤษคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย(อังกฤษเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมเฉลี่ยต่อปีประมาณ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไทยได้ดุลการค้า) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอังกฤษ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป อัญมณี แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีจำนวนบริษัทไทยที่ไปตั้งโรงงานในอังกฤษเพื่อส่งออกไปอียูไม่มาก

แต่ที่น่าสนใจ คือ ภายหลังจากนี้ไทยจะมีโอกาสทำ FTA เพื่อเปิดตลาดสินค้ากับอังกฤษได้โดยตรงเพราะอังกฤษก็น่าจะประสงค์หาพันธมิตรทางการค้าใหม่เช่นกัน และอาจจะง่ายกว่าการเจรจา FTA กับอียู 27 ประเทศ โดยหากอังกฤษไม่อยู่ในระบบตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของอียูแล้ว อังกฤษก็อาจไม่ต้องทำตามกฎระเบียบการนำเข้า/ส่งออกของอียู เช่น โควตาและกฎระเบียบด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกสินค้าไปอังกฤษได้เพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผัก ผลไม้ และอาหารสด/อาหารแห้ง(จากแต่เดิมที่ถูกจำกัดด้วยโควตาการนำเข้าของอียูและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี)

ที่ผ่านมา ไทยได้รับโควตาส่งออกไปอียูในอัตราภาษีต่ำ รวม 31 รายการภายหลัง Brexit อียูจะปรับลดโควตาลงเพราะอังกฤษก็จะมีโควตาของตนเองด้วย ในการนี้ไทยจะต้องเจรจาโควตากับอียูและอังกฤษใหม่สำหรับสินค้า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ปลากระป๋อง ปีกไก่ เป็นต้น โดยเป้าหมาย คือ ให้โควตารวม(ของอียูกับอังกฤษ)ไม่ลดลงจากที่อียูเคยจัดสรรก่อน Brexit

ทั้งนี้ไทยมีความจำเป็นต้องติดตามการเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียูอย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้ว่าอังกฤษและอียูจะสามารถบรรลุการเจรจาความสัมพันธ์ฉบับใหม่ ภายในสิ้นปี 2563 แต่การที่อังกฤษออกจากระบบตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของอียู อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าขายต่อกันขึ้นในอนาคต หากมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันต่อสินค้าบางชนิดและวางมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีขึ้น เช่น การใช้โควตาและการตรวจสอบแหล่งกำเนิดของสินค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่ลบในทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปอียูและอังกฤษในอนาคต โดยทีมงานThaieurope.net จะรายงานผลการการเจรจาความตกลงระหว่างอังกฤษกับ

อียูดังกล่าวให้ทราบต่อไป