บริหารความเสี่ยงพอร์ตหุ้นในตลาดขาลงด้วย Futures
ท่ามกลางความผันผวนและความไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะการระบาดของไวรัส COVID-19
ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างมากตั้งแต่ 5%-15% โดยตลาดหุ้นไทยนั้น ณ สิ้นกุมภาพันธ์ ดัชนี SET Index ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,340 จุด หรือประมาณ -16% นับแต่ต้นปี ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้ลงทุนอาจต้องมีการทบทวนและบริหารจัดการกับพอร์ตการลงทุนของตนเองโดยในการปรับเปลี่ยนนั้น บางท่านอาจใช้การขายหุ้นออกไปเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากกังวลว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงต่อไป หรืออาจลงทุนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นก็ได้ อีกทางเลือกหนึ่งในภาวะการณ์เช่นนี้ผู้ลงทุนอาจพิจารณาใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตหุ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องขายหุ้นออก เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ ฟิวเจอร์ส (Futures) ที่อ้างอิงกับหุ้น หรือดัชนี SET50 และออปชั่นที่อ้างอิงกับดัชนี SET50
หากจะอธิบายฟิวเจอร์ส (Futures) แบบง่ายๆ อาจบอกว่า คือการทำสัญญาจะซื้อจะขายสินค้าอ้างอิงกันโดยจะส่งมอบหรือชำระราคากันในอนาคต แต่กำหนดราคารวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ กันไว้ก่อนล่วงหน้า เช่น อายุสัญญา คุณภาพสินค้า วิธีการส่งมอบหรือชำระราคา เป็นต้น ดังนั้น ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างฟิวเจอร์สและสินค้าอ้างอิงนี้ จึงทำให้มูลค่าฟิวเจอร์สเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าที่สัญญา Futures อ้างอิงอยู่ เช่น ราคาของ XYZ Futures ที่อ้างอิงอยู่กับหุ้นแม่ XYZ นั้นก็จะมีการเคลื่อนไหวตามราคาหุ้นแม่ หากหุ้นแม่ปรับตัวขึ้น 1% ราคาของ XYZ Futures ก็จะปรับตัวขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือหากหุ้นแม่ปรับตัวลดลง ราคาของ XYZ Futures ก็จะปรับตัวลดลง ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ในตลาดขาลง การใช้ฟิวเจอร์สเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตที่ถือครองอยู่นั้น ทำได้โดยการขายฟิวเจอร์ส หรือเปิดสถานะ Short โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ หากมูลค่าพอร์ตหุ้นที่ถือครองลดลงจากราคาหุ้นที่ลดลง สถานะขายหรือ Short Futures ที่มีอยู่จะได้รับผลกำไร (เป็นผลมาจากราคาฟิวเจอร์ลดต่ำลง) ซึ่งจะช่วยชดเชยกับมูลค่าพอร์ตหุ้นที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม หากภาวะตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนก็จะขาดทุนจากสถานะขายหรือ Short Futures แต่จะสามารถชดเชยได้ด้วยกำไรจากมูลค่าพอร์ตหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อใช้ฟิวเจอร์สป้องกันความเสี่ยงแล้ว ไม่ว่าราคาหุ้นที่ถือครองอยู่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนโดยรวม ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้ลงทุนมีความมั่นใจในทิศทางของตลาดแล้ว ก็สามารถเลือกปิดสัญญา Futures ที่ได้ทำการ Short เอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสทำกำไรจากหุ้นที่อยู่ในพอร์ตลงทุนได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกด้วย
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ขอยกตัวอย่างการใช้ SET50 Futures เพื่อจัดการความเสี่ยงช่วงตลาดขาลง โดยหากพิจารณาจากข้อมูลช่วง 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงอย่างมาก ในสถานการณ์นั้น ผู้ลงทุนอาจเลือกขายกองทุนรวมหุ้น SET50 ที่ถือครองอยู่ประมาณ 2 แสนบาทหรือ อาจเลือกทำการขาย หรือ Short S50M20 (SET50 Index Futures ที่ครบกำหนดอายุเดือนมีนาคม 2020) จำนวน 1 สัญญาเพื่อบริหารความเสี่ยงแทน โดยหากสมมุติให้ว่า Short สัญญา S50M20 ที่ราคาเปิดตลาด 979.0 จุด และจากนั้นผู้ลงทุนยังคงถือกองทุนรวมหุ้น SET50 และสถานะ Short ในสัญญา S50M20 ต่อเนื่องจนถึงสิ้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวดัชนี SET50 ปรับตัวลดลงมาประมาณ 10.5% (จากที่ระดับประมาณ 1,003.51 จุด ในสัปดาห์ก่อนหน้ามายังระดับ 897.84 จุด) ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตกองทุนรวมลดลงประมาณ 21,000 บาท ในขณะที่ผู้ลงทุนได้กำไรจากสถานะขายฟิวเจอร์สด้วยราคาสัญญา S50M20 ปรับลงมาจาก 979 จุด มาที่ 888 จุด ทำให้มีกำไรประมาณ 18,200 บาท [(979 – 888) x 200 บาทต่อจุด] ทำให้ภาพรวมแล้วมูลค่าพอร์ตโดยรวมลดลงไปเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงบางส่วนของพอร์ตลงทุนได้ด้วยการ Short SET50 Index Futures โดยไม่จำเป็นต้องขายกองทุนรวมออก
ปัจจุบัน TFEX มีการซื้อขาย SET50 Index Futures และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงกับหุ้นรายตัว (เปิดให้ซื้อขายทั้งสิ้น 110 หุ้น) สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรายตัวเป็นหลัก ก็สามารถเลือกใช้ SSF ในการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับจำนวนหุ้นที่อยู่ในพอร์ตลงทุนของตนเอง (SSF 1 สัญญาเท่ากับ 1,000 หุ้น) สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีการกระจายลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 หรือลงทุนหุ้นกระจายไปในหลายบริษัท การเลือกใช้ SET50 Index Futures มาบริหารความเสี่ยงจะเหมาะสมกว่า โดยผู้ลงทุนควรพิจารณาขนาดพอร์ตหุ้นของตนเอง เพื่อกำหนดจำนวนสัญญา SET50 Index Futures (1 สัญญามีมูลค่าเท่ากับดัชนี SET50 คูณด้วย 200) ที่ควรเปิดสถานะ Short นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง ผู้ลงทุนอาจพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพอร์ตหุ้นของตนเองกับดัชนี SET50 และติดตามการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์นี้ เพื่อปรับจำนวนสัญญาที่ถือครองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ ก่อนการพิจารณาซื้อขายฟิวเจอร์สเพื่อบริหารความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจถึงกลไกและลักษณะของสัญญาฟิวเจอร์สซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้น เช่น ผู้ลงทุนจะต้องมีการวางเงินหลักประกันต้น (Initial margin : IM) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10% ของมูลค่าสัญญา และผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีการติดตามสถานะของการถือครองฟิวเจอร์ส พร้อมทั้งสำรองเงินไว้วางหลักประกันเพิ่มเติม หากภาวการณ์ตลาดเคลื่อนไหวตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ทำให้เกิดขาดทุนจากการถือครองฟิวเจอร์สอย่างมากและหลักประกันที่วางไว้ไม่เพียงพอ รวมทั้งต้องทราบถึงลักษณะสำคัญอื่นๆ เช่น อายุของสัญญา เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.TFEX.co.th