กทม.-35 จังหวัด ติดเชื้อโควิด-19พุ่ง ลุยล็อกดาวน์ชุมชน
วันเดียวติดเชื้อ โควิด-19 พุ่ง 188 ราย สถานการณ์กทม.-35 จังหวัดแรงขึ้น ล็อกดาวน์ชุมชน หวังผู้นำท้องถิ่นสกัดกั้น
การแถลงสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 188 ราย ยอดสะสมรวม 599 ราย
น่าสนใจว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 188 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 65 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 21 ราย ในกรุงเทพฯ เลย หนองบัวลำภู ปทุมธานี อุดรธานี ชลบุรี นนทบุรี พัทลุง แพร่ และสมุทรปราการ
กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย เป็น พนักงานร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับ ที่กทม. อุดรธานี เพชรบูรณ์ มีประวัติการทำงานแถวย่านทองหล่อ
กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 37 ราย ที่สุโขทัย นนทบุรี ชลบุรี ปัตตานี สงขลา ขอนแก่น ปราจีนบุรี อุดรธานี และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย ในนราธิวาส และยะลา
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 15 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศชาวต่างชาติ 8 ราย เป็นคนไทย 6 ราย และชาวสวิตเซอร์แลนด์ และอเมริกา ในจำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ , กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย
และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 108 ราย
ทั้งนี้ ยอดผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนไทยพบมากในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว ที่อาการน้อยทำให้ยังมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น เมื่อป่วยเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น กรณีสถานบันเทิง และสนามมวย
"พื้นที่กรุงเทพมหานครราว 10 ล้านคน ให้หยุดอยู่บ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และอย่าเดินทางกลับภูมิลำเนาเด็ดขาด ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมาตรการที่รัฐออกมานั้น ต้องการที่จะหยุดการเคลี่อนย้ายของคน ดีที่สุดคือเมื่อหยุดงานแล้วขอให้พักอยู่ที่บ้านอย่ากลับไปภูมิลำเนาเด็ดขาด เพราะอาจนำเชื้อโรคไปแพร่ให้คนต่างจังหวัด คนใกล้ชิดในครอบครัว ซึ่งคนที่อยู่ที่บ้านในต่างจังหวัดจะมีกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากคนที่ติดจากกรุงเทพมหานครจำนวนมาก" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เผยว่าจากสถานการณ์ผู้ป่วยนั้น จากเดิมพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก
จากวันที่ 19 มีนาคม ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 213 ราย ต่างจังหวัด 59 ราย วันที่ 20 มีนาคม เพิ่มเป็นกรุงเทพฯ 247 ราย ต่างจังหวัด 75 ราย วันที่ 21 มีนาคม กรุงเทพฯ 284 ราย ต่างจังหวัด 127 ราย และวันที่ 22 มีนาคม กรุงทพฯ 363 ราย ต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 236 ราย จะเห็นว่าช่วง 4 วัน เพิ่มขึ้นถึง 177 ราย
"ผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดกำลังเพิ่มสูงขึ้น และถ้าไม่ทำอะไรอีกสักระยะหนึ่งจำนวนผู้ป่วยก็จะมากขึ้นอีกในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นการที่ให้คนกรุงเทพฯหยุดอยู่บ้านและไม่ไปต่างจังหวัดในช่วงเวลา 2 สัปดาห์นี้ หยุดอยู่บ้านเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น และใครที่อยู่ระหว่างการป่วยเล็กๆน้อยๆภายใน 2 สัปดาห์ก็จะหาย
จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯปลอดเชื้อ ไม่เพิ่มเชื้อ แต่ถ้าคนไม่ทำตาม ยังมีการเดินทางและไปอยู่กับคนจำนวนมากระหว่างการเดินทาง ก็จะเป็นการเพิ่มเชื้อ ซึ่งระหว่าการเดินทางอาจไม่มีอาการหรืออยู่ระยะฟักตัว แต่เมื่อถึงต่างจังหวัด ก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน เพราะฉะนั้นถ้ารักคนที่บ้านก็อย่าเพิ่งเดินทางกลับต่างจังหวัด กักตัวให้ครบอย่างน้อย 14 วันก่อน ให้แน่ใจว่าในกรุงเทพฯเชื้อจะน้อยลง" นพ.โสภณ กล่าว
จากถ้อยแถลงของ "นพ.ทวีศิลป์" และ "นพ.โสภณ" สะท้อนให้เห็นชัดว่า เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้กระจายจากกรุงเทพฯไปยัง 35 จังหวัด ซึ่งหากการหยุดงาน แต่ไม่อยู่บ้าน มีการเดินทางออกต่างจังหวัด ย่อมทำให้คนแก่และคนมีโรคประจำตัวในพื้นที่บ้านนอกจะเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตได้
กรณีที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ว่าฯออกประกาศสั่งห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากพื้นที่บ้านโป่งเจริญ ม.12 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต หลังมีคนกลับจากสนามมวยมาแพร่เชื้อเพิ่มประมาณ 3 ราย รวมถึงเหตุการณ์ในคลิปที่จังหวัดน่าน นายอำเภอฯรายหนึ่งได้ชูปืนเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ในความสงบหลังมีการรวมตัวจัดงานขึ้นบ้านใหม่ แต่ห้ามไม่ฟัง อาจถูกมองกว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ก็ต้องทำเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ
นี่เป็นการลุยมาตรการ "ล็อกดาวน์ชุมชน" เพื่อไม่ให้กระจายเชื้อสู่ชุมชนอื่นๆ
สถานการณ์ความตระหนักรู้ในต่างจังหวัดเริ่มเข้มข้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ได้ลงไปติดตามในหมู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ ในช่วงนี้ ทำให้มีการห้ามญาติที่อยู่ในกทม.และปริมณฑลกลับบ้านในช่วงนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อยังมีการเดินทางไปมาหาสู่ได้ ยังไม่ปิดประเทศ และ "ล็อกดาวน์เมือง" อย่างเต็มที่เต็มขั้น เพราะกระทบต่อการใช้ชีวิตประชาชน และเกิดประเด็นการกักตุนอาหาร แต่เชื่อว่าก่อนถึง "เทศกาลสงกรานต์" คงมีมาตรการเข้มข้นกว่านี้ เพื่อหยุดยั้งจำกัดวงโควิด-19ระบาด!!