ถึงเวลา...ยกระดับการต่อสู้ในสงคราม COVID-19

ถึงเวลา...ยกระดับการต่อสู้ในสงคราม COVID-19

หากย้อนไปเมื่อต้นปี คงไม่มีใครคาดคิดว่าเชื้อไวรัส COVID-19ที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่ามีต้นกำเนิดในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน

จะแพร่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและตลาดทุนโลกได้อย่างรุนแรงขนาดนี้ อีกทั้งยังไร้วี่แววที่จะจบลงง่ายๆ

 แน่นอนว่ารัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ไม่สามารถนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จึงเข้ามามีบทบาทในการออกมาตรการชุดใหญ่อย่างทันท่วงที โดยหวังว่าการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินและการคลังจะบรรเทาผลกระทบได้ ตัวอย่างของมาตรการได้แก่

  • สหรัฐฯ: คงไม่ต้องบอกว่าสหรัฐฯ เต็มที่กับมาตรการกระตุ้นเพื่อลดแรงกดดันจาก COVID-19 ขนาดไหน เห็นได้จากอัตราความเร็วของการลดดอกเบี้ยของ FED จาก 50-1.75% เหลือ 0-0.25% ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน รวมถึงประกาศทำ QE เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบรอบใหม่ โดยไม่จำกัดวงเงินการซื้อพันธบัตร (จาก 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีประกาศออกมาก่อนหน้า) และไม่จำกัดระยะเวลา ขณะที่การกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังก็อยู่ระหว่างการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ยุโรป: แม้ ECB ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนประเทศอื่น แต่มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และออกมาตรการ QE ฉุกเฉิน หรือ Pandemic Emergency Purchasing Programme (PEPP) จนถึงสิ้นปีนี้ที่มูลค่า 5 แสนล้านยูโร ซึ่งครอบคลุมการซื้อสินทรัพย์ทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในยูโรโซนจะทยอยออกมาตรการการคลังออกมา เช่น รัฐบาลเยอรมนีที่ประกาศทุ่มงบประมาณ 5.5 แสนล้านยูโร โดยพุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง และถือว่าเป็นระดับการกระตุ้นสูงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
  • จีน: ธนาคารกลางของจีน หรือ PBoC อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง และยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าอัตราการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของ PBoC จะล่าช้ากว่าที่ตลาดคาด แต่โดยรวมจีนยังมีเครื่องมืออื่นๆ ในการกระตุ้นอีกมาก ข้ามมาที่นโยบายการคลัง แน่นอนว่าจีนจะเน้นการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษประจำท้องถิ่นจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงรัฐบาลจีนพร้อมช่วยเหลือและผลักดันภาคธุรกิจให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เท่ากับขีดความสามารถก่อนการระบาดของ COVID-19 โดยตัวเลขล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม ภาคการผลิตจีนกลับมาผลิตได้ที่ 70-80% ของขีดความสามารถเดิมแล้ว (สูงขึ้นจากระดับ 50% ในเดือนกุมภาพันธ์)
  • ไทย: ธปท. ก็หนีไม่พ้นการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันแตะจุดต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 75% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เสียอีก นอกจากนี้ ธปท ยังออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้ที่มีความผันผวนสูงในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลเล็งออกมาตรการเยียวยาภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มแรงงาน เพิ่มเติมอีกด้วย

 

ปัจจุบัน ตลาดทุนถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวจากจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มประเทศทางตะวันตกที่รุนแรงขึ้น ทำให้ขาดความมั่นใจในประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย หรือ QE เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ความสามรถในการลดลงอีกก็จำกัดลงไปเรื่อยๆ และยังไม่น่าดึงดูดใจต่อการขอสินเชื่อเพราะดอกเบี้ยอาจต่ำลงอีกในอนาคต เห็นได้จากการตอบสนองของตลาดหุ้นที่ปรับลงเมื่อ FED ประกาศมาตรการ ผิดกับการประกาศมาตรการการคลัง อย่างในวันอังคารที่ผ่านมา ที่รัฐสภาคองเกรสมีความพยายามในการออกงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉิน แม้ว่าจะยังไม่เป็นทางการด้วยซ้ำ ก็ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 10% ภายในวันเดียว สะท้อนว่านักลงทุนมองข้ามนโยบายการเงินและฝากความหวังไว้ที่นโยบายการคลัง ทั้งนี้เพราะอัตราความเร็วของการเพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มรายได้ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาของนโยบายการคลังทำได้เร็วกว่า และตรงกว่านั่นเอง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สะท้อนในดัชนีวัดความผันผวนของดัชนี S&P500 หรือ VIX ที่พุ่งแตะจุดสูงสุดที่ 82.7% ในวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ก่อนจะปรับลงมาที่ 59.1% ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 25 มีนาคม) แต่หากเทียบกับระดับของ VIX ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ที่ระดับ 80.9% ก็ถือว่าความอ่อนไหวของตลาดนั้นสูงมากๆ การเฝ้าดูสถานการณ์จึงต้องทำอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ต้องจับตานอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงินแล้วคือ มาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  หากควบคุมการระบาดได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะคุมความเสียหายได้มากเท่านั้น เพราะวันนี้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในครึ่งปีแรกนั้นสูงมาก (Technical Recession คือการที่ GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน) อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลาม เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้เอกชน และการว่างงาน ซึ่งหากความรุนแรงสูงมากเท่าไหร่ หนทางการฟื้นตัวก็จะยิ่งยากลำบากขึ้นเท่านั้น