COVID-19ในยุโรป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงทวีปยุโรป นับตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2562 เป็นต้นมานั้น
ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจจีน (ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย) ตลอดจนเศรษฐกิจโลกและยูโรโซน โดยไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความกังวลทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังลุกลามต่อเนื่องไปถึงความผันผวนในตลาดการเงินจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนและปัญหาด้านการค้าการขนส่ง จากความจำเป็นที่หลายประเทศจะต้องปิดเมืองหรือโรงงานผลิตยาวนานขึ้นที่ทำให้เครือข่ายโลจิสติกส์จีนปั่นป่วนจนส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนไปทั่วโลกและทำให้เกิดปัญหาในการติดต่อสื่อสารการเดินทางสัญจรและการกักตุนสินค้าและอาหารตามมาอย่างที่เห็นกันในแทบทุกประเทศ
มาตรการรับมือของอียูและประเทศสมาชิก
ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และโปแลนด์ ต้องสั่งล็อคดาวน์หรือทำการปิดประเทศชั่วคราว ห้ามเดินทางสัญจร เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยบางประเทศ เช่น เยอรมนี ฮังการี สโลวาเกีย และลิทัวเนีย ได้ทำการปิดพรมแดนบางส่วนกับประเทศในอียูด้วยกันเองซึ่งขัดกับหลักเสรีภาพในการเดินทางอันเป็นหัวใจของอียู
นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ของใช้ประจำวัน และยาอุปกรณ์ทางการแพทย์จนทำให้ในวันที่ 17 มี.ค.2563 อียูต้องประกาศมาตรการปิดพรมแดนภายนอก อียูทั้งหมดห้ามคนต่างชาติจากประเทศที่ 3 เดินทางเข้าอียูเป็นเวลา 30 วัน ยกเว้นกรณีเป็นการเดินทางที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด โดยอียูหวังว่าเมื่อปิดพรมแดนภายนอกแล้ว จะทำให้ประเทศสมาชิกอียูยกเลิกการปิดพรมแดนภายใน
ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจอียูเชื่อมโยงกับจีนสูงในหลายมิติ การแพร่ระบาดอย่างหนักในยุโรปทำให้การผลิตและการจ้างงานหยุดชะงักชั่วคราว ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อาทิ Volkswagen, Daimler (Mercedes), BMW, FIAT และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมถึง 6.1% ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติของห่วงโซ่อุทานจากการที่รัฐบาลจีนปิดเมืองอู่ฮั่นและการขาดชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากจีน รวมทั้งยอดขายก็ลดลงอย่างมากจากมาตรการล็อคดาวน์ โดยมีข่าวว่าบริษัทรถยนต์หลายแห่งได้แสดงความพร้อมที่จะเปลี่ยนมาผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการมากในยุโรปในช่วงนี้ ทั้งนี้ความท้าทายสำหรับบริษัทจะอยู่ที่การผลิตสินค้าประเภทใหม่ให้ได้มาตรฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐก็จะต้องช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องกฎระเบียบ กระบวนการเพื่อให้การปรับเปลี่ยนการผลิตสามารถทำได้โดยเร็ว ได้มาตรฐาน และเป็นทางออกหนึ่งในการช่วยประคับประคองอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปในช่วงวิกฤตินี้
คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่าวิกฤติโรคระบาดอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอียูในปี 2563 ติดลบที่ -1.1% (จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.4%) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าความพยายามจำกัดการแพร่กระจายและควบคุมไวรัสใช้ระยะเวลาเท่าใด
ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวข้องของอียูเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤติ COVID-19 ตั้งแต่ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ตลอดจนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีกและการขนส่ง โดยเฉพาะกิจการสายการบินในยุโรปที่ในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดหรือหยุดบินชั่วคราวจากผู้โดยสารที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาจนอียูต้องตัดสินใจระงับข้อบังคับที่เรียกว่า “use-it-or-lose-it” เป็นการชั่วคราวซึ่งกำหนดให้สายการบินต้องบินอย่างน้อย 80% ของเที่ยวบินที่กำหนดไว้ มิฉะนั้น อาจถูกริบสิทธิ์การบินให้กับสายการบินอื่นที่ต้องการ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้สายการบินในยุโรปต้องนำเครื่องบินเปล่าขึ้นบิน (สถานการณ์“Ghost flight”) ทั้งนี้ยุโรปมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวถึง 3.9% ของ GDP และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมถึง 6.1% หรือราว 11.9 ล้านคน
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association: IATA) ได้คาดการณ์ไว้ ณ วันที่ 5 มี.ค.2563 ว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจสูญเสียรายได้ถึง 113 พันล้านดอลลาร์ (หรือเท่ากับ103พันล้านยูโร) จากภาวะการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งผลกระทบต่อสายการบินจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเงินทุนสำรองในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือวิกฤติในครั้งนี้ ผู้นำอียูประกาศว่าจะดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและดูแลผลกระทบจาก COVID-19 ตั้งแต่การใช้มาตรการทางการคลังไปจนถึงการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน การบริหารจัดการชายแดนเพื่อเชื่อมโยงและจัดหาและขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ การช่วยเหลือคนอียูในต่างประเทศให้ได้กลับบ้าน การแก้ไขปัญหารถขนส่งสินค้าติดพรมแดนเนื่องจากประเทศสมาชิกหลายประเทศทำการปิดพรมแดนภายในประเทศของตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ที่ผ่านมา มีการออกมาตรการทางการคลัง มูลค่าประมาณ 2% ของ GDP และอัดฉีดสภาพคล่องอย่างน้อย 13% ของ GDP เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินกู้ยืม และชะลอการเก็บภาษี เป็นต้น มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวครอบคลุมถึงการช่วยเหลือ SMEs ผ่าน European Investment Fund เป็นเงิน 1 พันล้านยูโร เพื่อให้ธนาคารสามารถสนับสนุนการรักษาสภาพคล่อง มาตรการรองรับวิกฤติ COVID-19 (Corona Response Initiative) เป็นเงิน 37 พันล้านยูโร เงินจากกองทุน Structural Funds จำนวนอีก 28 พันล้านยูโร เงินจากกองทุน EU Solidarity Fund 800 ล้านยูโร เพื่อให้ครอบคลุมถึงวิกฤติด้านสาธารณสุข และเงินกองทุน European Globalisation Adjustment Fund เพื่อช่วยเหลือคนตกงาน จำนวน 179 ล้านยูโร เพื่อชะลอการชำระหนี้ให้กับบริษัท และผ่อนปรนเพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือธนาคารให้เข้าถึงเครดิต ทั้งนี้เพื่อรักษาเอกภาพของSingle Marketในด้านการผลิต ด้านอุปทาน และห่วงโซ่อุทานเพื่อป้องกันระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบ
นอกจากนั้น ธนาคารกลางยุโรปยังประกาศอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.5 แสนล้านยูโร ภายใต้โครงการ “Pandamic Emergency Purchase Programme” เพื่อเข้าซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ (public and private securities) ด้วยกฎระเบียบที่ยืดหยุ่น
โอกาสและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
1) แนวโน้มการส่งออกของไทยไปอียูจะปรับลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรปหดตัวลง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยในภาพรวม ได้แก่ ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ขาดแรงงาน กฏระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลง มาตรการล็อคดาวน์ที่ทำให้ความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเน้นการซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น และลดการซื้อของฟุ่มเฟือย ธุรกิจบางส่วนมีแผนปรับลดพนักงาน รายได้และผลกำไรโดยรวมในปีนี้ลดลง นักธุรกิจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าในประเทศไทย อาทิ งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ และการจับคู่ธุรกิจในไทย เป็นต้น
ภาคอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปอียูสูงและต้องจับตาผลกระทบ ได้แก่ สินค้าเกษตรและประมงสินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และประมง ยางล้อ และที่นอน เป็นต้น
2) จากสถานการณ์ที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้านและกักตุนอาหาร อาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารบางประเภทได้มากขึ้นในระยะสั้น เช่น ข้าว ปลากระป๋องอาหารปรุงสำเร็จ สิ่งปรุงรสอาหาร ผักผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงสินค้าเวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรปในช่วงถัดไปรวมถึงโอกาสในระยะยาวที่อียูอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นนอกจากจีน และอินเดียเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางด้านซัพพลายเชน
3) ธุรกิจภาคบริการของไทยในยุโรป เช่น ร้านอาหาร สปา ห้างสรรพสินค้า โรงแรม มีรายได้ลดไปมากจากสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงสายการบินไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากข้อจำกัดการเดินทางหลายประการ และการห้ามการเดินทางอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในยุโรป
4) ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่เดินทางมายังประเทศไทยคาดว่าผลของ COVID-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากอียูลดลง โดยในปี 2561 ไทยมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปประมาณ 6.7 ล้านคน
5) สถานการณ์เช่นนี้คงส่งผลให้การเจรจาการค้าของอียูกับประเทศต่างๆ รวมถึงการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตอียู-อังกฤษ ต้องชะลอออกไปก่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้
6) สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้าคาดว่าการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการยกระดับความร่วมมือทางการแพทย์ทั่วโลกจะมีความสำคัญมากขึ้น ตลอดจนการวางมาตรฐานสุขภาพระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนในการจัดการวิกฤติเพื่อลดผลกระทบจากภัยคุกคามนี้รวมถึงความเป็นไปได้ที่อียูจะมีข้อจำกัดด้านสุขภาพและการตรวจสอบความปลอดภัยต่อการนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากเกรงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ของมนุษย์
7) นอกจากนั้น เหตุการณ์นี้ยังทำให้เกิดการเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดอันเป็นผลพวงจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากออฟฟิศมาเป็นการทำงานทางไกล (TeleworkหรือWork from Home) เพิ่มการใช้ซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่นในการทำงาน รวมทั้งการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นระบบe-payment ที่ทันสมัยปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ธุรกิจซอฟท์แวร์และไอที น่าจะเป็นสาขาที่มีอนาคตที่สดใสภายหลังวิกฤติ COVID-19 นี้