“ตลาดสุขใจ”ต้นแบบสามพรานโมเดล สุขใจทุกครั้งเมื่อมาเยือน (จบ)

“ตลาดสุขใจ”ต้นแบบสามพรานโมเดล สุขใจทุกครั้งเมื่อมาเยือน (จบ)

ตลาดสุขใจเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนธ.ค. 2553 ผ่านมากว่า 9 ปี มีผู้บริโภคเกือบล้านคน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอินทรีย์และชุมชน

มากกว่า 200 ล้านบาท มีชุมชน 16 กลุ่ม 180 ครอบครัว และเปิดโอกาสให้เกษตรอินทรีย์เข้ามาจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2562 เริ่มเปิดตลาดในวันธรรมดาด้วยโดยจะเปิดในส่วนของศูนย์อาหาร ขนม ของฝาก เสื้อผ้า และผลผลิตของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อม เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น.โดยในวันเสาร์-อาทิตย์ ยังเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น.

ทุกวันใช้นโยบาย Go Green มีการจัดขยะอย่างครบวงจร งดการใช้ถุงหิ้วพลาสติก หลอดพลาสติก ขวดพลาสติก โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภคนำถุงผ้า ตะกร้ามาใส่สินค้ากลับบ้าน

สามพรานโมเดล คือรูปแบบของการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของสวนสามพราน เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ การแปรรูป และอาหาร สู่ผู้บริโภค ภายใต้การขับเคลื่อนของมูลนิธิสังคมสุขใจ ที่มีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม

เป็นประธานมูลนิธิ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันวิชาสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และที่สำคัญคือเกษตรกรในพื้นที่ที่จะต้องเปลี่ยนความคิดในการทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี มาทำการเกษตรแบบดั้งเดิมคือไม่ใช้สารเคมีหรือที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์ที่จะทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

ผมเคยเป็นพนักงานสินเชื่อเพื่อการเกษตรของธนาคารกรุงไทย ปฎิบัติงานในชนบทคลุกคลีกับเกษตรกรมานานหลายปี ปัญหาที่พบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือยิ่งทำยิ่งจน หนี้สินเพิ่ม แต่รายได้ลดลง ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลงจำนวนมาก สุขภาพย่ำแย่ สินค้าที่ผลิตต้องจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะไม่มีช่องทางการจำหน่าย ถ้าเกษตรกรยังทำอาชีพเกษตรเคมีแบบเดิมก็ไม่มีวันหลุดพ้นจากความยากจนได้

สามพรานโมเดลจึงควรนำไปเป็นต้นแบบใช้กับเกษตรกรได้ทั่วประเทศ โดยทุกภาคส่วนจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ให้ความรู้แก่เกษตรกรให้เห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยปลดหนี้สิน

ทำให้สุขภาพและสังคมแวดล้อมดีขึ้น

ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรคือช่องทางการจำหน่าย ตอนที่ยังรับผิดชอบดูแลสาขาของธนาคารกรุงไทย อยากเปิดใต้ถุนสาขาให้เกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าแปรรูปนำผลผลิตมาจำหน่ายทุกเสาร์อาทิตย์โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้การสนับสนุนเงินทุนสินเชื่อเกษตรอินทรีย์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการออม แต่ผมเกษียณเสียก่อน

ปัจจุบันผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นตลอดแต่ก็ยังมีจำนวนไม่มาก ภาครัฐจะต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าปลอดสารเคมี รวมถึงส่งเสริมให้สถานบริการต่าง ๆ ทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง

ทุกจังหวัดจะต้องมี Organic Team โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้การสนับสนุนทั้ง สสส. สกสว.สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ภาคเอกชน เช่น หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปศึกษาดูงานทำความเข้าใจกับสามพรานโมเดล นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่

สามพรานโมเดลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้ ต้องให้การสนับสนุนครับ...