ไทยควรเน้นการพัฒนาการเกษตรแนวเพื่อระบบนิเวศ

ไทยควรเน้นการพัฒนาการเกษตรแนวเพื่อระบบนิเวศ

โลกยุคหลังการระบาดโควิด-19 ภาคเกษตรโดยเฉพาะการผลิตอาหารจะกลับมามีความสำคัญ ไทยนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก

และน่าจะเน้นการพัฒนาด้านนี้

ไทยควรปฏิรูปการบริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งการปลูกพืช การใช้น้ำ การกําจัดศัตรูพืช ป่าไม้ และการประมง ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ/มีอำนาจและความรู้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการประมงในท้องถิ่นของตนแบบยั่งยืน (อยู่ได้ถึงรุ่นลูกหลาน) เพิ่มขึ้น

หลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นพิษ ปกป้องคุณภาพของดิน แหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้วิธีธรรมชาติปลูกพืชแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ การทําการเกษตรแนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ จะต้องการแรงงานในการดูแลเอาใจใส่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการช่วยให้คนมีงานทําเพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ก็คุ้มค่า และถ้าเราจัดระบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรมขึ้นคนจะมีเงินซื้อหาได้

การปลูกพืชหลากหลายชนิดสามารถใช้เป็นอาหารในท้องถิ่นได้ โดยคนในชุมชนไม่ต้องไปซื้อหาจากภายนอก การทําการเกษตรแบบผสมผสาน สร้างความหลากหลายเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการโจมตีของศัตรูพืช ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทำให้เกษตรเป็นงานที่น่าสนใจ เกษตรกรมีความภูมิใจและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

คิวบา เปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลส่งไปขาย ไปทําการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เน้นการพึ่งตนเอง ปลูกพืชที่เป็นอาหารแม้ในเขตเมือง ชาวนาในอินเดียรวมกลุ่มกันต่อต้านบริษัทผลิตน้ำอัดลมที่มาสร้างเขื่อนและแย่งน้ำไปจากพวกเขา ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเทศ กลุ่มผู้บริโภคจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าอาหาร และร่วมมือกับเกษตรกรขนาดย่อมผลิตและบริโภคอาหารแนวอินทรีย์

เกษตรกรขนาดย่อมและขนาดกลางร่วมมือกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรแบบสหกรณ์ เครดิตยูเนียน วิสาหกิจชุมชน ฟาร์มรวม และประสานงานในรูปเครือข่ายร่วมมือกับผู้บริโภค สหภาพแรงงาน และองค์กรประชาชน เพื่อที่จะแข่งขันสู้บรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ได้

รัฐและภาคธุรกิจเอกชนควรทุ่มเทวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ขยะ ความร้อนใต้โลก กระแสคลื่นในทะเลและพลังงานน้ำขนาดเล็ก พาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน มาใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งซื้อ/เช่าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น

ลดการผลิตสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยเกินความจําเป็นโดยรวมลง เพื่อลดปัญหาผลกระทบการทําลายระบบนิเวศให้เหลือน้อยที่สุด เปลี่ยนแนวคิดจากการมุ่งเติบโตเชิงปริมาณ เป็นการเจริญเติบโตทางคุณภาพชีวิตแทนด้วยมาตรการ เช่น

1.จัดระบบการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้าและบริการใหม่ โดยเน้นความใกล้ทางภูมิศาสตร์มากขึ้น เพื่อจะได้ขนส่งและใช้พลังงานลดลง ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหารและสินค้าและบริการ รวมทั้งพลังงานได้เองเป็นส่วนใหญ่ แทนการสั่งเข้า จะประหยัดทั้งเรื่องการเก็บรักษา การหีบห่อ การขนส่งและการตลาด ได้เพิ่มขึ้น

2.วิจัยและพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรและพลังงานลดลง เน้นการใช้พลังงานทางเลือก ทําให้สินค้าคงทนมีอายุใช้งานนานขึ้น มีขยะเหลือน้อยและหรือนํากลับไปแปรรูปใช้ใหม่ได้

3.ส่งเสริมการบริโภครวมหมู่ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car pool) แทนการที่ต่างคนต่างใช้รถส่วนตัว การมีห้องสมุด ศูนย์พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ ร่วมกันในชุมชน

4.ส่งเสริมการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วและการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้จักรยานแทนรถยนต์เพิ่มขึ้น ทําทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ช่วยบังแดด มีสัญญาณไฟเพื่อความปลอดภัย ฯลฯ ส่งเสริมการซ่อมแซมปรับปรุงนำของเก่ามาใช้ การแยกขยะและการแปรรูปใช้ใหม่

5.ให้ชุมชนมีอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน ที่นอกจากผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้พอเพียงแล้ว ควรคิดถึงการให้สมาชิกชุมชนมีเวลาทํากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวและชุมชน การอยู่ในธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี พัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

6.ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจสังคม ช่วยให้คนจนได้รับบริการพื้นฐานที่จําเป็น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่จําเป็น การศึกษาอย่างพอเพียง เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากในอัตราสูงขึ้น

7.ออกแบบกระบวนการผลิตใหม่หมด (Redesign) ปกป้องให้คนงานได้รับอุบัติเหตุ หรือผลกระทบทางสุขภาพจากการทํางานลดลง ส่งเสริมให้คนงานมีอํานาจในการควบคุมกระบวนการทํางานของตน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ เรื่องเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คือให้พนักงานได้เป็นผู้ถือหุ้นและมิสิทธิมีเสียงในโรงงานหรือธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีอํานาจในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น และยั่งยืนขึ้นได้จริง

การที่โลกใช้และติดต่อกันผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องหาทางแก้ไข คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องใช้วัสดุและพลังงานไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 15-19 ตัน การผลิตคอมพิวเตอร์ชิพสําหรับคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องก่อให้เกิดขยะคิดเป็นน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น 1,300 เท่า ขยะบางอย่างเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง กระบวนการผลิตคอมพิวเตอร์ยังก่อให้เกิดการปล่อยสารพิษไปบนชั้นบรรยากาศมากกว่าสินค้าทั่วไปราว 10 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากซากขยะคอมพิวเตอร์ที่เลิกใช้แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมุ่งหากําไรสูงสุด บริษัทคอมพิวเตอร์จึงผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น และจูงใจให้ผู้บริโภคโยนทิ้งของเก่าไปซื้อของใหม่บ่อยขึ้น ทั้งที่ของเก่ายังมีอายุการใช้งานได้อยู่

เราอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ในการประหยัดเวลาและพลังงานในการทํากิจกรรมของเราได้ในหลายกรณี แต่การจะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาด้านการออกแบบและบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจสังคมด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่

นอกจากจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบและจัดการจราจรแล้ว ยังต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างบูรณาการ เช่น การขนส่งสาธารณะ การใช้รถร่วมกัน (Car Pool) การเป็นเจ้าของรถร่วมกันแบบเป็นสมาชิกและจ่ายค่าใช้จ่ายเฉพาะวันเวลาที่ต้องใช้รถ การส่งเสริมการใช้จักรยานและเดินเท้า การทำเมืองให้เล็กลง กระจายให้คนไปอยู่ในเมืองอื่นๆ อย่างมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย