ปฏิรูปนโยบายจัดการขยะ เกาให้ถูกที่คัน(1)
ปัจจุบัน สภาพปัญหาการจัดการขยะในประเทศไทยเปรียบได้กับเรือที่มีรูรั่ว พร้อมก่อให้เกิดปัญหา
เริ่มจากการที่ต้นหน หรือผู้ที่มีหน้าที่บริหารจัดการเรือในภาพรวม (Regulator) ไม่ได้ให้ความสำคัญ เกือบ 20 ปีแล้วที่ได้มีการออกแนวทางในการจัดการขยะชุมชน ซึ่งได้ระบุหลักเกณฑ์การดำเนินงานไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีการประกาศบังคับ
เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวทางดังกล่าวซึ่งได้ยึดแบบอย่างของประเทศสหรัฐ ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายเรื่องการจัดการขยะ พ.ศ.2536 หรือเพียง 5 ปี หลังจากสหรัฐออกกฎหมาย แต่หากเรามีความเข้มงวดและดำเนินการตามสหรัฐ ปัจจุบันเราคงไม่มีหลุมเทกองหรือหลุมลักลอบทิ้งกระจายไปกว่าพันแห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เรือลำนี้ยังขาดต้นกล หรือผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านเทคนิคประจำเรือ (Operator) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจุดบกพร่องของเรือและซ่อมบำรุง หรือสั่งยกเลิกอุปกรณ์ที่ชำรุดหรือไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่แปลกใจเลยว่าการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธี ได้แพร่กระจายโดยไร้ซึ่งทิศทางการควบคุม เพราะในหลายๆ ครั้ง ต้นหนและต้นกลยังไม่ขีดวงวิธีในการดำเนินงานให้ชัดเจน
ดังนั้น ปัญหาของการจัดการขยะของประเทศไทย จึงถูกแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือด้านการบริหารจัดการ และด้านเทคนิคและการควบคุมการดำเนินงาน
ปัญหาด้านการบริหารจัดการ
1.ขาดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถกลั่นกรอง ชี้นำ หรือตัดสิน คัดเลือกเทคโนโลยี และวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสม เช่น ผู้บริหารระดับกระทรวงมีนโยบายผลิตน้ำมันจากขยะ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วยังศึกษาถึงความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ หรืออาจได้รับอิทธิพลจากทางด้านธุรกิจทำให้เกิดการบิดเบือนวิธีการจัดการขยะที่ถูกต้องและขีดความสามารถในการรับมือกับจัดการขยะชุมชนมีความหลากหลาย เช่น ขยะจากการก่อสร้าง ซากรถยนต์ ซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันต้องใช้ระบบผู้ผลิตเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ (Extended Producer Responsibility : EPR)
2.ขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาตให้ก่อสร้าง หรือดำเนินการจัดการขยะด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ทรัพยากร และด้านเศรษฐศาสตร์
3.ไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการขออนุญาตก่อตั้งพื้นที่จัดการขยะ ซึ่งระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น การขออนุญาตก่อสร้างพื้นที่ฝังกลบขยะ ควรประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันมีเพียงการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งออกโดยท้องถิ่นเท่านั้น
4.อิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งยังเป็นปัญหาในเรื่องการกำกับดูแล เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวพันกับงบประมาณ
5.ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นไม่มีความชำนาญในการบริหารโครงการจัดการขยะ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับงบประมาณในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและรักษาการทำงานของระบบ
6.เจ้าภาพร่วมในการจัดการขยะ ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ หรือถึงฤดูโยกย้าย ส่วนที่เคยริเริ่มไว้ก็ต้องเริ่มตั้งต้นใหม่ทำให้ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข
7.ความสับสนของต้นกล (Operator) และต้นหน (Regulator) ในอำนาจหน้าที่และกฎหมายรองรับ เช่นในปัจจุบันตามแผนแม่บทขยะ Operator และ Regulator เป็นหน่วยงานเดียวกันคือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยจะให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับผู้ว่าฯ ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นการคานอำนาจแทบไม่มี หากธุรกิจเอกชนมัดใจผู้ว่าฯ ได้แล้ว Regulator ตามแผนแม่บทก็ไม่มีความหมาย
8.ขาดการบูรณาการทางความคิดก่อนที่แผนแม่บท หรือนโยบายด้านขยะจะถูกดำเนินการ เช่น ปัญหาผังเมือง, การมุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากขยะแต่ขาดการบูรณาการกับการไฟฟ้าเรื่องสายส่ง และกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องผังเมือง
9.การประเมินผลกระทบต่อแนวทางในการจัดการที่คัดเลือกเช่น
- การผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะ (RDF) ยังไม่มีโรงผลิตไฟฟ้าจาก RDF รองรับอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาการจัดเก็บ RDF เป็นเวลานาน เช่น เยอรมนีที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการจัดการ Dead stock ของ RDF ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 10-15 ล้านตันด้วยการเร่งสร้างโรงไฟฟ้าจาก RDF
- การไม่มีระบบจัดการของเสียจากการทำ RDF หรือการร่อนขยะ ทำให้ต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตเชื้อเพลิง RDF ไม่ได้ถูกนำมาคิดอย่างถูกต้อง
- การกำจัดเถ้าที่ได้จากการเผาขยะซึ่งอาจมีลักษณะเป็นขยะอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการเตรียมการรองรับไว้หรือไม่
- การจัดการขยะอินทรีย์ที่ไม่มีการคัดแยกมาจากต้นทาง ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของดินในอนาคต
เป้าหมายของการจัดการขยะควรกำหนดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากมีเป้าหมายเป็นการลดจำนวนขยะ อาจกำหนดนโยบาย เช่น ลดการเกิดขยะไม่ให้เพิ่มขึ้นจากปี 25XX ให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นไปค้นหาวิธีการจัดการขึ้น หรือไม่ให้มี open dumping landfill ภายในปี 2568 หรือเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้ 30% ภายในปี 2564 เป็นต้น
โดย... พูนศักดิ์ จันทร์จำปี