นวัตกรรม Augmented Reality กับ ‘การขับเคลื่อนสังคม’ช่วงโควิด
มนุษย์ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวและรับ ‘นวัตกรรม’ เข้ามา อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบรีโมท (Remote) เมื่อต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกภูมิภาคของโลก และเพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่น มนุษย์ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวและรับเอา ‘นวัตกรรม’ เข้ามา เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบรีโมท (Remote) เมื่อต้องรักษาระยะห่างทางสังคม
ขณะนี้ผู้พัฒนานวัตกรรมก็ช่วยศึกษาพัฒนา และผู้บริโภคก็ช่วยทดลองใช้ เพื่อค้นหาว่าโซลูชั่นใดจะตอบโจทย์วิถีชีวิตขณะนี้ได้และต้องปรับปรุงอย่างไร ให้นวัตกรรมเหล่านั้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น
หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาพัฒนาและต่อยอดมากที่สุดในขณะนี้ คือ อ็อกเมนเต็ด เรียลิตี้ (Augmented Reality : AR) ทำให้เราสามารถนำข้อมูลบนโลกดิจิทัลเข้ามาผนวกกับสิ่งแวดล้อมจริงรอบตัวเราได้ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการนำไปใช้งาน ด้านสร้างความบันเทิง เช่น การนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเกม แบบโปเกมอน โก แต่ยังมีมิติอื่นที่เออาร์ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตผู้คนและการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ
เช่น นำเออาร์เพื่อแสดงภาพกายวิภาค และอวัยวะที่ต้องผ่าตัดแบบอินเตอร์ แอคทีฟ 3 มิติ วางแผนก่อนลงมือผ่าตัดจริงในวงการการแพทย์ การใช้เออาร์ช่วยให้สถาปนิก วิศวกร หรือนักออกแบบมองเห็นผลงานสุดท้าย และปรับปรุงได้ก่อนจะลงมือก่อสร้างจริง นอกจากนี้ ยังมีการนำเออาร์ มาบูรณาการใน จีพีเอส โมบาย แอพ แนะนำจุดท่องเที่ยว
แล้วเมื่อโลกของเราต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ระดับ Pandemic เทคโนโลยีเออาร์ถูกนำมาใช้งานอย่างไร ในมิติของการทำงานทางไกล (Remote Working) บางกลุ่มอาชีพอาจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ไม่ยากนัก เพียงใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มพื้นฐานเข้ามาช่วย เช่น วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ , โปรเจค แมเนจเม้นท์ และคลาวด์ สตอเรจ เพื่อให้การทำงานจากบ้านเป็นไปอย่างสะดวก
สำหรับบางกลุ่มอาชีพ หรือบางอุตสาหกรรม เช่น แพทย์ วิศวกร หรือ ช่างเทคนิค มีการนำเทคโนโลยี เออาร์ และวิดีโอ 360 องศา เข้ามาใช้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถทำการวิเคราะห์สถานการณ์ได้เสมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง แนะนำให้บุคลากรซึ่งประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการทำงานต่อหรือค่อยๆ แก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้ละเอียดทีละขั้นตอน
ด้านการตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภค ซึ่งหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เออาร์ สร้างประสบการณ์หลายๆ กรณี เช่น แอพเออาร์ที่ชื่อว่า YouCam Makeup ซึ่งบูรณาการเวอร์ช่วล เมคอัพของแบรนด์เครื่องสำอางต่างๆ ลงไปบนแอพ ให้นักช้อป ‘ลองสินค้า’ ก่อนซื้อได้ผ่านแอพเออาร์แสดงภาพเสมือนว่าเราได้ใช้ผลิตภัณฑ์บนใบหน้าของเราจริงๆ
ในขณะเดียวกัน ยังเห็นการนำเออาร์เข้ามาต่อกรกับโควิด-19 เช่น ในจีนนำเออาร์ มาพัฒนาร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพื่อสร้างขึ้นเป็นแว่นตาเออาร์ สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายผู้คนภายในรัศมี 1 เมตรได้นับร้อยคนภายในคราวเดียว จากนั้นแว่นจะระบุตัวบุคคลที่เสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อ และทำการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติบนภาพที่ปรากฏในสายตาผู้สวมใส่
นอกจากนี้ ผู้สวมใส่ยังสามารถค้นหาติดตามบุคคลที่เสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว ผ่านระบบจดจำใบหน้า ซึ่งติดตั้งไว้ภายในแว่นเออาร์ นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยทำให้กระบวนการตรวจวัดอุณหภูมิใช้เวลาน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ลดการรวมตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มคนหมู่มากได้เป็นอย่างดี แว่นตาเออาร์ ถูกนำมาใช้แล้วในบางพื้นที่ของประเทศจีนที่สามารถเปิดให้ประชาชนกลับมาทำกิจกรรมทางสังคมบางส่วนและเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้นั่นเอง
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ เลนส์เออาร์บนโซเชียลแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งร่วมรณรงค์ให้ผู้คนรักษาระยะห่างทางสังคมอีกแรงหนึ่ง ผ่านการแสดงบริเวณ ‘AR Circle’ บนหน้าจอ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเห็นภาพมากขึ้นว่าควรรักษาระยะห่างจากผู้อื่นเท่าไหร่ อีกทั้งยังมีเลนส์เออาร์ ที่มาพร้อมกับทิปส์การดูแลตัวเองง่ายๆ เช่น การเตือนให้ล้างมือ เก็บตัวอยู่ในบ้าน และความสำคัญของการไม่สัมผัสใบหน้าของตัวเอง อีกด้วย
หากมองให้ดี วิกฤตการณ์โควิด-19 และนำเทคโนโลยีอย่างนวัตกรรมเออาร์ มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ก็ได้ทำให้เราตระหนักแล้วว่า การพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เป็นการนิยามว่าเราอยากดำเนินชีวิตอย่างไรในโลกความจริง และเราจะใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโลกของเราได้อย่างไร