นัยของนิวนอร์มอลต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทย

นัยของนิวนอร์มอลต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทย

ข่าวดีของการติดเชื้อที่ลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดความหวังว่าเราจะกลับเข้าไปสู่ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน

แล้วก็จะเริ่มทำมาหากินได้เสียที นำไปสู่ท่าทีของรัฐที่จะผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนในวงการท่องเที่ยวเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ปัญหาก็คืออุโมงค์นั้นจะยาวขนาดไหน แล้วสายป่านของเราจะยาวสักเท่าใด

ก่อนที่จะพูดถึงอนาคตใหม่ของการท่องเที่ยวไทย มาเข้าใจคำศัพท์ที่ตอนนี้กำลังเป็นแฟชั่นก็คือ นิวนอร์มอล (New Normal) หรือวิถีปกติใหม่ และอีกช่วงหนึ่งในขณะนี้จนถึง 2 ปีข้างหน้าผู้เขียนอยากจะเรียกว่าวิถีปกติระยะสั้น (Next Normal) หมายความว่าใน 2 ปีข้างหน้านี้ความปกติของภาคท่องเที่ยวอาจจะเป็นความปกติแบบไม่ปกติ หรือปกติแบบไม่เสถียร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการระบาดของโควิด-19 ในประเทศลูกค้าที่สำคัญและวิธีการที่ประเทศซึ่งเป็นลูกค้าของเราใช้รับมือกับการระบาดอาจจะมีการระบาดรอบเดียวจบหรือระบาดเป็นรอบๆ โดยที่ระลอกที่ 2 และ 3 นั้น เป็นรอบที่เล็กกว่ารอบที่ 1 สิ่งที่ทุกคนรอคอยคือการค้นพบวัคซีนหรือยารักษาโรคที่ราคาไม่แพง ทำให้โควิด-19 จบลงอย่างรวดเร็ว

หากเราคิดว่าวิถีปกติใหม่จะเกิดขึ้นใน 3 หรือ 5 ปีข้างหน้า คำถามก็คือแล้วอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไร โควิด-19 จะเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมไทยหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องอาศัยนักพยากรณ์หรือโหร ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตอ้างอิงนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์อนาคตคือ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ซึ่งกำลังทำวิจัยเรื่อง อนาคตคนเมือง 4.0” ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ท่านได้ชี้ว่าวิถีปกติใหม่จะเป็นอย่างไรนั้นต้องมองลึกไปถึงปัจจัยระดับฐานรากก่อนที่จะเกิดโรคระบาด

เนื่องจากโรคระบาดเป็นระบบแบบอลวน ซึ่งความวุ่นวายที่ดูเหมือนไม่มีรูปแบบและไม่เป็นระเบียบนั้น แท้จริงแล้วเป็นไปตามกฎระเบียบเชิงโครงสร้างบางอย่างและพลวัตการเปลี่ยนแปลงจะอ่อนไหวมากต่อสภาพเริ่มต้น ดังนั้น การปรับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ขึ้นอยู่กับความสามารถและในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข สภาพเริ่มต้นและโครงสร้างของระบบนั้น” (www.khonthai4-0.net)

รศ.ดร.อภิวัฒน์ ได้ฟันธงว่าสำหรับประเทศไทย เดิมโควิด-19 เพียงแค่ตอกย้ำถึงโครงสร้างเดิมที่เหลื่อมล้ำของสังคมไทย เมื่อโควิด-19 สงบลงแล้ว วิถีแบบเดิมๆ ก็จะกลับมา

ถ้ายึดเอาความคิดและทฤษฎีของอาจารย์อภิวัฒน์เป็นหลัก อนาคตของการท่องเที่ยวไทยฉากทัศน์แรก ก็คือ "เป็นแบบเดิมๆ” หรือ “Business as Usual” โควิด-19 เพียงแต่จะเร่งให้แนวโน้มเดิมที่มีอยู่เกิดเร็วขึ้น เช่นการเข้าสู่สังคมไร้ธนบัตร (Cashless Society) การเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อของสรรพสิ่งต่างๆ ข้อมูลรวมทั้งมนุษย์ ในด้านอุปทาน (Supply) ทุกอย่างก็ซ้ำรอยเดิม ภูเก็ตก็จะยังเป็นหนึ่งด้านการท่องเที่ยวเหมือนเดิม สัดส่วนของตลาดอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนก็ยังเป็นหนึ่งในด้านจำนวนผู้มาเยือน

พฤติกรรมประเภทเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็อาจจะลดลงซึ่งก็เป็นแนวโน้มเช่นนี้อยู่แล้วในภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทย ส่วนการบริการด้านสุขภาพและ Wellness ถึงแม้จะมีบทบาทเด่นอยู่แล้วก็ตาม แต่ต่อไปจะขยายตัวมากขึ้นอีก เช่น ขยายไปสู่การดูแลผู้สูงวัยทั้งในลักษณะ Day-care และในระบบกินนอนพวก Airbnb และโฮมสเตย์อาจจะต้องหาวิธีการจัดการตัวเองใหม่ ในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย และปรับตัวเองไปเป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ

ที่สำคัญก็คือ มาตรการการรักษาระยะห่างจะทำให้รายได้จากการบริการต่อครั้งค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะบังคับให้เราเข้าสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น นับเป็นข้อดีของการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่จะไม่มีการดั๊มพ์ราคากันจนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อย่างกีฬาเช่น กอล์ฟ ปั่นจักรยาน หรือวิ่งมาราธอน ที่วิ่งกันเป็นกลุ่มเล็กซึ่งรักษาระยะห่างได้ก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนสนามมวยก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนที่นั่งแบบโรงละคร เช่น ทำให้มีสิ่งที่คนสมัยเก่าเรียกว่า ชั้นบ๊อกซ์คือคูหาที่มีผนังพลาสติกป้องกันน้ำลายจากการตะโกนเชียร์กันอย่างเมามัน เป็นต้น

ส่วนสถานบันเทิงก็อาจจะกลับมาได้ เพราะปกติวิสัยมนุษย์มักชอบสิ่งรื่นเริงบันเทิงใจ แต่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงกันเองแบบตัวใครตัวมัน แต่แนวโน้มสำคัญในเรื่องของวิถีใหม่ของธุรกิจแบบเดิมๆ นี้ก็คือต้นทุนจะสูงขึ้น นี่คือหนึ่งฉากทัศน์ของความเป็นไปได้ซึ่งก็คือ Business as Usual เป็น New Normal ในอีก 3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก

ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านดีมานด์และปัจจัยภายนอกเช่น ราคาน้ำมัน และอนาคตของสายการบินนานาชาติ และนโยบายด้านการเดินทางของประเทศที่เป็นตลาดท่องเที่ยวหลักก็คงต้องรออีกสักพักให้โควิด-19 สงบลงก่อนจึงจะมองเห็นรูปแบบใหม่ได้

ที่น่าปวดใจก็เห็นจะเป็นวิถีปกติแบบไม่เสถียร หรือ Next Normal ภายใน 2 ปีข้างหน้านี่ละค่ะ สำหรับโรคระบาดแล้วการท่องเที่ยวเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบเศรษฐกิจภาคจริง (Real Sector) ของเรา เพราะธรรมชาติของการท่องเที่ยวเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อการระบาดของโรค ทำให้การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางที่สุดและเป็นศัตรูที่อ่อนแอที่สุดของโควิด-19 อีกปัญหาหนึ่งก็คือว่าโรคระบาดนี้คือตอนต้นๆ ก็ยังจะไม่เห็นผลกระทบมาก แต่พอถึงจุดจุดหนึ่งการระบาดก็เริ่มขยายตัวอย่างทบเท่าทวีคูณ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการตัดไฟแต่ต้นลม

ปัญหาก็คือว่าเราไม่รู้ว่าควรจะตัดเมื่อไร ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือตัดให้ไวไว้ก่อน การผ่อนปรนจึงจะทำแบบปิดๆ เปิดๆ แบบปิดไวเปิดช้า มาตรการรักษาระยะห่างก็ยังต้องเข้มเข้าไว้ สถานบันเทิงก็ยังไม่น่าจะเปิดได้สำหรับการท่องเที่ยวไทยซึ่งอาศัยสถานบันเทิง (เป็นอาวุธลับที่ซ่อนไว้ใต้พรม) ที่สำคัญตลอดมาก็จะต้องซบเซาลง

ภายใต้สถานการณ์นี้การท่องเที่ยวใน 2-3 ปีข้างหน้าจึงมีแต่การขึ้นๆ ลงๆ พวกที่สายป่านยาวก็จะอยู่ได้ พวกที่สายป่านสั้นหรือพวกที่รับจ๊อบ เช่น มัคคุเทศก์ ก็ต้องรีบหาอาชีพเสริม ส่วนกลุ่มบริษัทท่องเที่ยวก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการคิดค่าคอมมิชชั่นจากการเชื่อมต่อซัพพลายเชนเท่านั้น เพราะลูกค้าจะเคยชินกับการใช้ออนไลน์มากขึ้นและจะหันไปติดต่อโรงแรมและสายการบินโดยตรงซึ่งก็เป็นแนวโน้มปัจจุบันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้จัดการกิจกรรมที่จุดหมายปลายทาง (Destination Management) ให้แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ

แต่ละคนกับต้องมีไม้เด็ดของตัวเองในการนำเสนอลูกค้าที่บริษัทอื่นๆ ไม่มีหรือเข้าถึงได้ยาก เช่น ที่พัก Private แบบ Exclusive ดื่มไวน์บนชายหาดที่เป็น Private Beach หรือกลุ่มตลาดพิเศษ เช่นลูกค้าที่เป็นคนพิการที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งการจัดค่ายเรียนพิเศษให้เยาวชนนานาชาติ เช่นจัดค่ายภาษาจีนในจังหวัดท่องเที่ยว

สำหรับภาครัฐ ในช่วง Next Normal นี้น่าจะมาคิดถอดบทเรียนการรับมือกับโรคระบาดและภัยพิบัติ สร้างมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยด้านโรคระบาดสำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและขนส่ง แล้วมาร่วมกันคิดเรื่องเป้าหมายระยะยาวของการท่องเที่ยวใหม่ว่าเราจะเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

ท่ามกลางวิกฤตินี่แหละค่ะเราจะเริ่มเห็นศักยภาพของเราและนวัตกรรมก็จะตามมาค่ะ สู้สู้!