ควรเริ่มศึกษาแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ช่วงนี้ คือ เรื่องของตลาดชุมชนออนไลน์ (Community E-commerce) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในอนาคต
วิกฤติโควิด-19 ทำให้การซื้อออนไลน์เติบโตขึ้นมหาศาล เพราะผู้บริโภคถูกบังคับให้จำเป็นต้องมาใช้บริการออนไลน์เหล่านี้ และยังทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาทำลาย (Disrupt) รูปแบบธุรกิจเดิมๆ หรือที่เราเรียกว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่น มาถึงเร็วขึ้นกว่าที่คิดมาก มีผลให้เกิดการลดคนงานจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ และธุรกิจจำนวนมากจะล้มหายตายจากไป โดยอาจถูกแทนด้วยธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีรูปแบบอย่างแกร็บ, อาลีบาบา หรือ ลาซาด้า
ในทฤษฎีของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง มีแนวคิดที่ว่า Winner take all กล่าวคือ รายใหญ่เป็นผู้ครองตลาดเกือบหมด ด้วยความที่มีข้อมูลของลูกค้าและพาร์ทเนอร์จำนวนมาก จึงสามารถทำ ดาต้า อนาไลติกส์ และมีระบบเทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่เหนือคู่แข่ง ดังนั้นเราจะเห็นการเข้าสู่ตลาดของแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยการทุ่มเงินมหาศาลซื้อลูกค้าหรือซื้อพาร์ทเนอร์ ทั้งใช้วิธีลดแลกแจกแถม ยอมขาดทุน แล้วทำให้รายเล็กอื่นๆ ตลอดจนธุรกิจแบบเดิมๆ ล่มสลายไป จากนั้นเมื่อตัวเองเป็นผู้ชนะ อาจใช้การผูกขาดทางการค้าเอาเปรียบพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าได้ในอนาคต
ช่วงนี้แพลตฟอร์มส่งอาหารหลายรายเริ่มขึ้นราคากับคู่ค้า เป็นโอกาสให้ธุรกิจโตขึ้น แม้แพลตฟอร์มบ่นว่าขาดทุน แต่ที่น่าสงสาร คือ ร้านค้าที่อาจต้องปิด จากสาเหตุที่ต้นทุนสูงขึ้น เพราะแพลตฟอร์มขึ้นราคาค่าบริการ และลูกจ้างอีกจำนวนมากอาจต้องตกงาน รวมถึงผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เมื่อแพลตฟอร์มผูกขาดตลาดสามารถขึ้นราคาตามใจชอบได้
ผมอยู่ในอนุกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภา ซึ่งหารือเรื่องนี้ การผูกขาดและการเอาเปรียบทางการค้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ใช่แค่ร้านค้าเริ่มอยู่ไม่ได้ แต่มีผลมาถึงธุรกิจ โลจิสติกส์ ในประเทศที่ถูกเอาเปรียบ จึงต้องหาแนวทางแก้ไข ซึ่งผมได้เรียนคณะกรรมาธิการว่า ควรเริ่มศึกษาแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่ช่วงนี้ คือ เรื่องของตลาดชุมชนออนไลน์ (Community E-commerce) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในอนาคต
เราเริ่มเห็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งทำตลาดออนไลน์ทั้ง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ด้วยการสร้างกลุ่ม เฟซบุ๊ค ฝากประชาสัมพันธ์สินค้าตัวเอง ซึ่งเริ่มขยายผลไปอีกหลายแห่ง เห็นเพื่อนหลายคนไปสั่งสินค้า จนผู้ขายขายได้หมดอย่างเร็ว ยังมี อบจ. และเทศบาลหลายแห่งทำเฟซบุ๊ค หรือไลน์ง่ายๆ ซื้อขายสินค้า เราเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเชื่อมให้ผู้ผลิตต้นทางได้ติดต่อได้โดยตรงกับผู้ซื้อปลายทางไม่ต้องผ่านคนกลางหรือใช้แพลตฟอร์มใหญ่ในรูปแบบเดิม
ผมเองช่วงนี้เน้นใช้ไลน์กลุ่มหมู่บ้านและบริเวณใกล้ๆ 3-4 กลุ่มสั่งอาหารและสินค้า ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน 500 คน เราสามารถสั่งอาหารจากร้านในชุมชน ตามบ้านทำขายเป็นรายได้เสริม บางคนสั่งสินค้าอื่นๆ และผลไม้มาขาย มันคือระบบอีคอมเมิร์ซชุมชน ทำกันง่ายๆ ผู้ขายก็มาโพสต์ข้อความสั้นๆ ทุกวัน พวกเราในชุมชนก็ซื้อในราคาย่อมเยา ไม่ต้องไปเสียค่าบริการให้แพลตฟอร์มใหญ่ๆ ไม่ต้องทำ ดาต้า อนาไลติกส์มากมาย เพราะเป็นเพียงตลาดชุมชนเล็กๆ สุดท้ายก็กลับมาเป็นวัฒนธรรมแบบเดิมของสังคมชุมชนในที่ต่างๆ
ตลาดชุมชนออนไลน์เกิดจากชุมชนและสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าเราให้การสนับสนุนเรื่องนี้ดีพอ เราอาจเห็นตลาดชุมชนออนไลน์ต่างๆมากมายเป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ แห่ง เป็นเสมือนตลาดนัดตลาดสดแบบเดิมที่เราเคยไป แม้ไม่ใช่แฟลตฟอร์มใหญ่โต ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน ไม่ต้องทำโฆษณา ขายกันเองในชุมชน และอาจไม่เกิดหลักการ Winner take all แต่สำคัญที่สุดทุกคนอยู่ได้ ธุรกิจไม่เกิดการล่มสลาย คนยังมีงานมีรายได้ จากการเกื้อกูลกันของคนในสังคม มาช่วยสนับสนุนตลาดชุมชนออนไลน์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ทุกคนในสังคมไทยอยู่ได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี