สร้างเสริม หรือสร้างศัลย์กับความเหลื่อมล้ำ
ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้ากำลังเป็นธุรกิจชูโรงธุรกิจหนึ่ง ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพระเอก
ทั้งหญิงทั้งชายที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างซึมซับยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ ปีที่ผ่านมามียอดเงินใช้จ่ายในการทำศัลยกรรมเพื่อความงามสูงถึงเกือบห้าหมื่นล้านบาททีเดียว
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมได้ดูผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์พูดถึงเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทย ตอนนี้ตายเรียบเหลือเครื่องยนต์เดียวคือ ธุรกิจ Well being หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีมีคุณภาพอยู่ดีกินดี ธุรกิจนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่รวมตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่พัก ท่องเที่ยว รักษาสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม ถึงขนาดที่ตลาดหลักทรัพย์แยกตั้งกลุ่มนี้เป็นอีก sector หนึ่งในกระดานตลาดหุ้น เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่หุ้นยังขึ้นต่อ นอกนั้นตายสนิท
รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ เอกชนก็ลงทุนมหาศาล กลุ่มทุนใหญ่ระดับแสนล้าน ไม่ว่าในเครือเจียรวานนท์ หรือสิริวัฒนภักดี มีโครงการเปิดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 400-500 เตียงในเครือหลายแห่ง ทั้งรองรับบุคลากรของกลุ่มนับแสนคน ทั้งให้บริการประชาชนทั่วไป และที่ขาดไม่ได้คือการต่อยอดดึงต่างชาติมาใช้บริการ อย่างนี้รัฐบาลก็ต้องชอบ เพราะหาเงินเข้าประเทศ
ประชาชนคนไทยที่มีศักยภาพพอที่จะซื้อประกันสุขภาพของตัวเองก็มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินเพื่อประกันสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ยอดกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันภัยที่คุ้มครองด้านสุขภาพในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านฉบับ เบี้ยประกันใกล้ 1 แสนล้านบาทเข้าไปทุกทีบางทีก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ธุรกิจเข้ามาช่วย absorb ดูแลประชาชนคนไทยมากขึ้น ทำให้ลดการแออัดยัดเยียดจากการใช้บริการโรงพยาบาลรัฐได้ไม่น้อย ไม่อย่างนั้นแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลรัฐคงต้องทำงานหนักกว่านี้
แต่ถ้ามองในแง่เหลื่อมล้ำ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าคงไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าจะให้ระยะห่างนั้นแคบลงได้อย่างไร แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้คนยากจน คนที่ขาดโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่อยู่ในมาตรฐานที่สูงกว่าปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เพราะรายได้คนมีรายได้สูงกับคนมีรายได้ต่ำห่างกันมากที่สุดในโลกแต่ทำไมจึงไม่มีปัญหาทางสังคมจากสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ
คำตอบก็คือแม้ว่าประชาชนที่มีรายได้ระดับต่ำสุดจะถูกทิ้งห่างจากผู้มีรายได้ระดับสูงมหาศาล แต่คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้อยู่ดีกินดีตามมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่อดมื้อกินมื้อเหมือนคนยากคนจนบ้านเรา
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ระยะห่างหรือช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากน้อย แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้คนระดับล่างระดับรากหญ้ามีคุณภาพชีวิตไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีการศึกษา มีงานทำ มีกินมีใช้ มีสุขภาพดีเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเอาไปคิดต่อ