วิธีการสร้างงานให้คน 10 ล้านครัวเรือน
เศรษฐกิจภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ภัตตาคาร ร้านอาหาร รถยนต์ และอื่นๆ จะฟื้นตัวทีละน้อย
เพราะจะต้องใช้เวลาราว 2 ปีกว่าจะมีการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจริง และฉีดให้ประชากรโลกส่วนใหญ่ได้ และถึงหลังจากนั้นผู้คนก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบระมัดระวังและเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่ายุคก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาที่เดิมแบบรูปตัววีได้
ไทยมีคนตกงาน หรือรายได้ตกต่ำราว 14-15 ล้านคน เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นแบบพึ่งพาการลงทุน การค้าและตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาก เนื่องจากไม่มีทางที่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับโรคระบาดจะฟื้นตัวได้ 100% ใน 2-3 ปีข้างหน้าหรือนานกว่า ดังนั้นเราควรคิดรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการจ้างงาน การผลิต การใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแบ่งปันกันทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น และลดการพึ่งพาต่างประเทศลง
ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกได้ใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก (ราว 150 ล้านไร่) และส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรอื่นๆ ได้ เรายังสามารถปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร เพื่อช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม เพิมผลผลิตต่อไร่ เพิ่มกาปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างหลากหลาย
ข้อมูลจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2558 ระบุว่าในปี 2554 มีที่ดินรกร้างว่างเปล่ามากกว่า 48 ล้านไร่ ข้อมูลจากนักวิชาการปฏิรูปที่ดิน (ดร.อาทิตย์ พวงพรหม) ระบุว่า มีที่ราชพัสดุ (กรมธนารักษ์, ทหาร) 12.5 ล้านไร่ และที่ดินสาธารณะ (กรมที่ดิน, อปท.) 7.4 ล้านไร่ อาจมีพื้นที่ทับซ้อนกันบ้าง คิดคร่าวๆ ที่ดินของรัฐทั้ง 2 แบบนี้ซึ่งเป็นคนละส่วนกับป่าไม้ น่าจะมีราว 19-20 ล้านไร่ ถ้านำมาจัดสรรแบ่งเป็นแปลงละ 1 ไร่ มีถนนเข้าถึง น่าจะคัดเลือกให้ผู้สนใจและมีศักยภาพ ไปทำการเกษตรแบบผสมผสานพึ่งตนเองได้ 10 ล้านครอบครัว อาจทยอยทำใน 3-5 ปีก็ได้ อาจให้สำนักงานปฏิรูปตั้งแผนกใหม่ หรือจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปเกษตรแนวใหม่นี้และหรือจัดตั้งเป็นสหกรณ์นิคมเกษตรในตำบลต่างๆ ที่มีที่ดินประเภทนี้ตั้งอยู่
การจัดสรรอาจเป็นการให้เช่าในราคาที่ต่ำมากในระยะยาวก็ได้ หรือทำเป็นโฉนดชุมชน ข้อสำคัญคือ 1. ห้ามการซื้อขายสิทธิต่อ ถ้าผู้ได้สิทธิไม่ประสงค์จะทำต่อต้องขายสิทธิ์คืนให้สหกรณ์ เพื่อป้องกันการทุจริตฉ้อฉลและการเล่นพวก 2. รัฐต้องสนับสนุนในเรื่องการขุดบ่อน้ำและการลงทุนพื้นฐาน แบบทำให้ฟรีและหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งการฝึกอบรมความรู้ทางด้านการเกษตรในยุคใหม่ เพื่อที่คนที่จะไปเป็นเกษตรกรรายใหม่จะได้มีต้นทุนตั้งต้น และเห็นลู่ทางที่จะทำการเกษตรแบบได้ผลจริงได้ 3. สัญญาเช่าหรือเช่าซื้อควรเป็นระยะยาว 20-30 ปี เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ยืนต้นควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสานเพื่อการกินอยู่ และหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเองในระยะสั้นได้ไปพร้อมๆ กัน
ส่วนที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ซึ่งหลายคนซื้อไว้แบบเก็งกำไร และมีมากเกินไปเป็นพันเป็นหมื่นไร่ ก็ควรออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินแบบจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน เช่น ไม่ให้ใครมีเกิน 500 ไร่ ใครมีเกินต้องขายคืนในราคาประเมินหรือต่ำกว่าให้ธนาคารที่ดิน หรือสำนักงานปฏิรูปการเกษตรแนวใหม่นี้ ซึ่งควรใช้วิธีออกพันธบัตรระยะยาวแบบมีดอกเบี้ยให้ จะได้ไม่ต้องห่วงว่ารัฐบาลจะหางบมาจากไหน
ที่ต้องปฏิรูปเอาที่ดินเอกชนมาจัดสรรด้วย เพราะประเทศไทยในปัจจุบันปล่อยให้เจ้าที่ดินรายใหญ่มีที่ดินมากเกินไป เกษตรกรตัวจริงไม่มีที่ทำกินต้องเช่าเขา และคนที่อยากเป็นเกษตรกรก็ไม่มีโอกาสได้ไปทำ ทำให้การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรในประเทศไทยมีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลต่ำและมีความไม่เป็นธรรมสูง ที่ดินของภาคเอกชนที่มีโฉนดของไทยที่มีราว 15 ล้านไร่นั้น กระจุกตัวอยู่กับเจ้าที่ดินรายใหญ่มาก เจ้าของที่ดินกลุ่มที่มีที่ดินสูงสุด 20% แรกมีจำนวนผู้ถือครอง 3.1 ล้านราย มีที่ดินรวมกัน75.8 ล้านไร่ 80% ของที่ดินทั้งหมด คนที่เหลืออีก 80% หรือราว 13 ล้านราย มีที่ดินรวมกันเพียง 20% ของที่ดินทั้งหมด (ดร. ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2562)
ถ้าคิดเฉพาะคนที่มีที่ดินมากที่สุดแค่ 1% แรก (ราว 3 หมื่นราย) มีสัดส่วนการถือครองที่ดิน เกือบ 25 ล้านไร่ ราว 1 ใน 4 หรือ 25% ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด เฉพาะ10 ตระกูลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดแล้ว น่าทึ่ง มากที่ตระกูลหนึ่ง (ทำธุรกิจขายน้ำเมา) มีที่ดินไถึง 630,000 ไร่ ตระกูลที่ 2 (ธุรกิจการเกษตร, ค้าปลีก ฯลฯ) มี 2 แสนไร่ อีก 8 รายที่มีที่ดินมากรองลงมาถือครองที่ดินระหว่างรายละ 5,000-44,000 ไร่ (ดร.อาทิตย์ พวงพรหม, อ้างแล้ว)
นอกจากรัฐควรจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ 10 ล้านรายไปทำกินแล้ว ก็น่าจะช่วยเกษตรกรที่ทำอยู่ในที่ดินที่ไม่ใช่ของตัวเอง ซึ่งมีถึง 52% ของที่ดินการเกษตรทั้งหมด (ปี 2556) ให้มีที่ทำกินแบบมั่นคง กรณีที่พวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ และไม่ต้องเสียค่าเช่าสูงในกรณีเป็นผู้เช่า ถ้าเราปฏิรูปที่ดินและการเกษตรเพื่อช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วย (ทำเป็นโฉนดชุมชนหรือที่ดินของชุมชน สหกรณ์ เพื่อป้องกันการขายต่อ) จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาการเกษตรได้ผลผลิตสูง ประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้น ปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งให้มูลค่าสูงเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ทั้งเป็นผลดีต่อระบบนิเวศด้วย นี่คือทางออกที่จะรับมือกับเศรษฐกิจโลกยังหลังโรคระบาดโควิดได้อย่างยั่งยืนมากกว่าโครงการประเภทจะเอางบไปแจกให้คนไปท่องเที่ยวกัน
การส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจจะช่วยให้ประชาชนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม้เหล่านี้กว่าจะโตเอาไปใช้งานได้ต้องใช้เวลานาน 20-30 ปี คนที่จะลงทุนปลูกป่าไม้เศรษฐกิจได้ต้องเป็นหน่วยงานที่จ้างคนปลูกหรือระบบสหกรณ์ที่ได้สินเชื่อระยะยาวโดยใช้ที่ดินที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นคำประกันได้ ทั้ง 2 โครงการนี้จะแก้ปัญหาคนว่างงาน ขาดรายได้ อย่างยั่งยืนมากกว่า ทั้งยังกระจายให้คนไปอยู่ในชนบทไม่ต้องแออัดอยู่เมืองใหญ่ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมก็จะดีกว่า ป้องกันและเยียวยาเรื่องโรคระบาดได้ดีกว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอุตสาหกรรม การค้า การบริการ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ มากเกินไปอย่างที่ผ่านมา การกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้คนไทย๖๘ล้านคนอย่างทั่วถึงที่เป็นธรรมขึ้น จะช่วยสร้างอำนาจซื้อสินค้าอุตสาหกรรมและอื่นๆ ธุรกิจการค้าภายในประเทศก็จะเจริญเติบโต เศรษฐกิจภายในประเทศจะใหญ่ขึ้น พึ่งพาตลาดภายในของตนเองได้มากขึ้น เวลาเกิดวิกฤตโรคระบาดหรือวิกฤติอื่นๆ ครั้งต่อไป ไทยจะรับมือได้ดีกว่าการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไปอย่างที่ทำกันอยู่