โควิด-19 กับโอกาสการลงทุนระลอกใหม่
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก ที่นอกจากจะกระทบเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย
ซึ่งหากประเทศใดสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้เร็ว ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เร็ว บทความนี้ต้องการชวนผู้อ่านย้อนรอยการลงทุนไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายในระยะข้างหน้า ที่เราควรใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสลงทุนในสาขาสำคัญแห่งอนาคต ช่วยเร่งการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด 19
20 ปี กับดักการลงทุนไทย
ย้อนกลับไปก่อนปี 2540 การลงทุนภาคเอกชนเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูง ถึง 6% แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เกินกว่าความต้องการของเศรษฐกิจ และนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในที่สุด การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตดีกลับไม่ทำให้ผู้ประกอบการลงทุนในประเทศเท่าที่ควร เกิดปัญหาช่องว่างการลงทุน (S-I Gap) ซึ่งงานศึกษาของ ธปท. พบว่า การลงทุนในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ฟื้นตัวแบบ L-Shape และไทยมีการลงทุนต่ำกว่ากลุ่มประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจใกล้เคียงกันอยู่ 5% ของ GDP ซึ่งจะทำให้ความสามารถแข่งขันของไทยในระยะยาวลดลง สาเหตุหลักที่ไทยยังติดอยู่ใน “กับดักการลงทุน” คือ (1) กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ลดทอนแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบการ (2) การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ (3) ปัจจัยเชิงสถาบัน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้นโยบายรัฐขาดความต่อเนื่อง และ (4) ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ (TDI) ที่ผู้ประกอบการไทยออกไปหาโอกาสในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
ปัญหาโครงสร้างไทยขาดการลงทุน
ปี 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 3% และการที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูงจึงได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากวิกฤติครั้งนี้ ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว 5.3% และมีผลซ้ำเติมจากความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการขาดการลงทุนมานาน ได้แก่
(1) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เห็นได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ภาครัฐขาดการลงทุนในระบบจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทำให้ไม่สามารถเยียวยาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานกว่า 20% ของการจ้างงานทั้งหมด และส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความคุ้มครองทางสังคม (Social safety net) และการใช้เทคโนโลยีเพื่อชะลอการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เทียบกับต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ที่มีการเชื่อมฐานข้อมูลบุคคลกับข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อติดตามผู้ติดเชื้อ ฮ่องกงพัฒนาแอปพลิเคชัน StayHomeSafe ทำงานร่วมกับสายรัดข้อมือ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีหากผู้สวมใส่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ส่วนสิงคโปร์พัฒนาแอปพลิเคชัน TraceTogether ที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของภาครัฐเพื่อระบุตัวตนของผู้ติดเชื้อและส่งสัญญาณเตือนได้
(2) การลงทุนในทุนมนุษย์และระบบการศึกษา การเรียนหนังสือที่บ้านชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ และปัญหาความไม่ครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ในกรณีนี้อาจไม่ได้มาจากเม็ดเงินลงทุนที่น้อยเพราะงบประมาณลงทุนในการศึกษาไทยค่อนข้างสูงที่ 6-7% ต่อ GDP แต่เป็นปัญหาของช่องว่างของคุณภาพการศึกษา สะท้อนจากดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ที่ชี้ว่าไทยมี Human Capital Index (HCI) ที่ 0.6 หมายถึง นักเรียนไทยที่เรียนจนจบหลักสูตรมีผลิตภาพเพียง 60% ของระดับสูงสุดเท่านั้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำ ขณะที่แรงงานจบใหม่จะหางานทำได้ยากขึ้น
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
โควิด 19 ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของความเข้มแข็งจากพื้นฐานศักยภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้เขียนขอนำเสนอโอกาสและความท้าทายของการลงทุนไทยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสลงทุนในสาขาเสริมสร้างศักยภาพแก่เศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนี้
(1) การลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี การลงทุนในทุนมนุษย์และเพิ่มคุณภาพของการศึกษา การที่ไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างเดิมที่มีอยู่เสียก่อน โดยควรเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดช่องว่างทางสังคม อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคม ฐานข้อมูลภาครัฐ และระบบการศึกษาทางไกลที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
(2) การลงทุนในสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ได้แก่ (2.1) อาหาร ซึ่งเป็นสาขาพื้นฐานที่ไทยมีความพร้อมและเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วิกฤตโควิด 19 ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด และการทำให้ “ครัวไทยเป็นครัวโลก” เป็นเรื่องที่ไม่ยากเพราะไทยมีทรัพยากรสมบูรณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และ (2.2) การแพทย์ สาธารณสุข และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โควิด 19 ทำให้ทั่วโลกใส่ใจกับคุณภาพของบริการสาธารณสุขและการแพทย์มากขึ้น ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านการให้บริการด้านการแพทย์อยู่แล้ว จึงควรใช้จังหวะนี้เร่งลงทุนการแพทย์แบบครบวงจร (Medical hub) ทั้งการผลิตบุคลากรและการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยปี 2563 ไทยอยู่ลำดับที่ 17 ของการจัดอันดับประเทศที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยนิตยสาร International Living ซึ่งมีตัวชี้วัดด้านสาธารณสุขรวมอยู่ด้วย
ปัจจัยสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้เลยคือแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐและเอกชน โดยในช่วงแรกภาครัฐอาจทุ่มไปกับการเยียวยาประชาชนเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย น่าจะถึงเวลาที่ภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับการการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยจากภายในอย่างแท้จริง เพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องเผชิญกับวิกฤต ที่อาจมีขึ้นในอนาคตได้
[ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ]
สุขใจ ว่องไวศิริวัฒน์
รองผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
พิรญาณ์ รณภาพ
เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค