โควิด –19 เปลี่ยนแปลงชีวิตทุกคน เราก้าวสู่โลกใบใหม่พร้อมกับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย กลายมาเป็นชีวิตประจำวัน ฉบับนี้จะขอพูดถึงความรู้สึก
และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป
ประเทศไทยได้ก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤติของโควิด -19 มาแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงผ่อนผัน Lock down หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น หากแต่คนไทยยังคงมีความกังวลใจ ซึ่ง 8 ใน 10 ของคนไทย กังวลว่า จะเกิดวิกฤติขึ้นใหม่เป็นรอบที่สองในอนาคต เมื่อผู้บริโภคเห็นแล้วว่า คงยากมากที่จะกลับไปสู่ภาวะการใช้ชีวิตเหมือนช่วงก่อนการเกิดโควิด -19 และได้เริ่มมีการเตรียมตัวรับมือกับ New normal รวมถึงการปรับตัวให้อยู่กับความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดในอนาคต
แนวคิดเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของคนไทยจึงเปลี่ยนไปหลังจากการเกิดโควิด-19 นี้ เราจะระมัดระวังตัวมากขึ้น เมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ หรือต้องพบปะผู้คน ดังนั้น Social Distancing จึงยังคงเป็นแนวทางการใช้ชีวิตต่อไป จนกว่าจะมีวัคซีนมาป้องกันโควิด -19 ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความต้องการที่จะไปดูคอนเสิร์ต หรือไปทำกิจกรรมกับคนหมู่มาก อาจจะยังไม่สามารถกลับมาได้ในทันที ผู้บริโภคจึงหันไปสนใจ Virtual Event หรือ Live Stream ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ ซึ่งเป็นการจัด Virtual concert ของศิลปินที่เขาชื่นชอบ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการตอบโจทย์ของความต้องการบรรยากาศแบบสดๆ ในขณะที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของสุขภาพ และความปลอดภัย
New normal อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่คนมีความสุขกับการอยู่บ้านมากขึ้น ขณะนี้คนไทยมีมุมมองเรื่องความสุขเปลี่ยนไป พวกเขาจะให้ความสำคัญกับความสุขเล็กๆ ใกล้ตัว แต่มีคุณค่าและความลึกซึ้งทางจิตใจ จากการศึกษาของเรา พบว่าคนส่วนใหญ่อยากทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อน และเป็นกิจกรรมภายในบ้าน มากกว่าการออกไปท่องเที่ยวเดินทาง ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม
เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การใช้สื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่เราเห็นการเติบโตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้อินเตอร์เน็ต 75% ของผู้บริโภค บอกว่าพวกเขาใช้ Internet surfing มากขึ้น ขณะที่ 71% บอกว่าพวกเขาดู VDO Online มากขึ้น (Kantar Thailand, ปี 2563) นอกจากนี้เรายังพบว่า พวกเขาใช้ Social network, email และ Podcast/streaming music มากขึ้นอีกด้วย
ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีการดูทีวีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด ทั้งนี้เป็นเพราะ ผู้บริโภคต้องการแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทันต่อเหตุการณ์ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มมีเสธียรภาพ การดูทีวีอาจลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความหลากหลายของ Content ด้านความบันเทิง จึงให้ความสนใจกับเนื้อหาในออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้แต่ละคนมีเวลาการดู Content ต่างๆ ไม่เหมือนกัน มี Personal Prime time ที่ไม่ตรงกัน จึงมองหาความยืดหยุ่น และ On-demand content มากกว่า หลายคนจะดูเนื้อหาของทีวีย้อนหลัง จึงมีการร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ
เช่น Content ของช่องทีวีสามารถไปดูได้ใน Streaming service เช่น Netflix เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเช่นนี้ ในส่วนของ Social Media Platform ผู้บริโภค ใช้เวลามากขึ้นกับ Platform หลักๆ เช่น YouTube, Facebook, Instagram และ Twitter Platform ตัวเลือกใหม่ อย่างเช่น Tik Tok ก็มีการใช้เพิ่มมากขึ้น เหตุผลที่ได้รับความนิยม เป็นเพราะสามารถดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างเป็น Sub-community เกิดขึ้น มีลูกเล่นที่ดึงดูดใจ ให้คนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รวมถึงสร้างความท้าทายต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยให้คนสามารถสร้างความเชื่อมโยงอย่างสนุกสนานกับคนอื่นๆ ได้ดีอีกด้วย
โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนไทยปรับตัวรับ digital lifestyle อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น จนกลายเป็นรูปแบบการใช้สื่อแบบใหม่ สื่อออนไลน์ตอบโจทย์ได้หลากหลายทั้ง ข่าว อัพเดทข้อมูล บันเทิง และการช็อปปิ้ง จึงกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักของคนหนุ่มสาว และคนในเมือง แต่สื่อทีวี ยังมีอิทธิพลอย่างมากอยู่ โดยเฉพาะกับพื้นที่ต่างจังหวัด และกลุ่มคนสูงอายุ แบรนด์จึงควรเลือกผสมผสานสื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้คนมากกว่าการเลือกสื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียว