“ฮั้ว”...มีหรือจะไม่ผิด

“ฮั้ว”...มีหรือจะไม่ผิด

“ฮั้ว” ตามหลักคิดของการแข่งขันทางการค้า

หมายถึง การตกลงร่วมกันทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจ(Cartels) กฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป (European Union; EU) ให้นิยามของการฮั้ว มีใจความสรุปได้ว่า การฮั้ว คือ ข้อตกลงร่วมกันในพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขันกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยมุ่งหวังจะครอบงำตลาดหรือสร้างอุปสรรคเพื่อลดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในตลาด เช่น การกำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการร่วมกัน (Price fixing)การร่วมกันจัดสรรการผลิตเพื่อจำกัดปริมาณผลผลิต (Quota allocation) การตกลงร่วมกันในการแบ่งพื้นที่ขายสินค้าหรือบริการ (Market allocation) การร่วมกันกีดกันการนำเข้าหรือส่งออก (Import/ Export restriction) เป็นต้นในขณะที่นิยามการฮั้วขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development; OECD) ก็คล้ายคลึงกับนิยามของสหภาพยุโรป หากแต่จะไม่นับรวมการตกลงร่วมกันที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพทางการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560ได้ระบุว่า ถือเป็นความผิดหากผู้ประกอบธุรกิจ จะทำการตกลงร่วมกันในพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด โดยแบ่งการฮั้วออกเป็น 2 ตลาดคือ  1.การฮั้วกันของผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดเดียวกัน (Horizontal agreements) และ 2.การฮั้วกันของผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการแข่งขันทางธุรกิจที่มิใช่ตลาดเดียวกัน (Vertical agreements)

พฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการฮั้วกันของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดเดียวกัน ถือเป็นการฮั้วกันแบบร้ายแรง (Hardcore cartel) เช่น การกำหนดราคาซื้อ - ขายหรือเงื่อนไขใดๆ ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำแข็งในพื้นที่เดียวกันฮั้วกันที่จะขึ้นราคาน้ำแข็งพร้อมกัน การจำกัดปริมาณสินค้าหรือบริการด้วยการตกลงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ผลิต ซื้อ จำหน่าย หรือบริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจผลิตหน้ากากอนามัยฮั้วกันด้วยการจำกัดปริมาณการผลิต เพื่อให้ราคาของหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นในตลาด การสมรู้ร่วมคิดกันของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งชนะการประมูลตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมประมูลงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนั้น

ฮั้วกันเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งในกลุ่มชนะการประมูลซึ่งโดยมากราคาที่ชนะการประมูลมักสูงกว่าราคาที่เกิดจากการแข่งขันอย่างแท้จริง จากนั้นก็จะนำงานที่ประมูลได้มากระจายให้ผู้ประกอบธุรกิจภายในกลุ่มการแบ่งท้องที่ซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจ ก. และ ข. ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งเหมือนกัน ฮั้วกันโดยผู้ประกอบธุรกิจ ก. จะขายสินค้าชนิดนั้นเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ ข. จะขายสินค้าที่เหมือนกันในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนล่าง ทั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจทางการตลาดและกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ พฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการฮั้วกันดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นความผิดตามมาตรา 54และเป็นโทษทางอาญาตามมาตรา 72แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

พฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการฮั้วกันของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ตลาดเดียวกัน ถือเป็นการฮั้วกันแบบไม่ร้ายแรง (Non-Hardcore cartel) เช่น ลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจ ก. ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ประกอบธุรกิจ ข. ผลิตแบตเตอรี่มือถือ ฮั้วกันด้วยการผลิตสินค้าของตนให้มีคุณภาพต่ำลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน และนำไปสู่กำไรที่เพิ่มขึ้น แต่งตั้งบุคคลใดแต่พียงผู้เดียวเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจ ก. ข. และ ค. ผลิตสินค้าชนิดหนึ่งซึ่งเหมือนกัน ฮั้วกันแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ง. เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 3 ราย แต่เพียงผู้เดียว โดยให้ขายสินค้าในราคาเดียวกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดสูงกว่าราคาที่เกิดจาก การแข่งขันอย่างแท้จริง กำหนดเงื่อนไขทางการค้าร่วมกันผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกรายย่อยในตลาดเดียวกันฮั้วกันกำหนดเงื่อนไขทางการค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตสินค้าต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกจะรวมตัวกันไม่สั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายนั้นทั้งนี้การฮั้วกันแบบไม่ร้ายแรงถือเป็นความผิดตามมาตรา 55 และเป็นโทษทางปกครองตามมาตรา 82แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ตาม การฮั้วกันของผู้ประกอบธุรกิจใช่ว่าจะเป็นความผิดเสมอไป หากการฮั้วกันนั้น เป็นการฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ประกาศกำหนด เป็นการฮั้วกันของธุรกิจแฟรนไชส์(Franchise) เดียวกันที่ไม่ก่อให้เกิดอำนาจผูกขาดหรือลดการแข่งขันทางการค้า เป็นการฮั้วกันเพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่ไม่นำไปสู่อำนาจผูกขาดหรือลดการแข่งขันทางการค้า ย่อมได้รับการยกเว้น ไม่ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

เป็นที่ทราบกันว่า การพิสูจน์หาหลักฐานเพื่อเป็นการยืนยันถึงพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจนั้นกระทำได้ยาก ปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการกล่าวโทษกับผู้กระทำความผิด รวมไปถึงอาจเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในชั้นศาลได้อีกด้วย!