อาชีพ“วิถีใหม่”ที่ส่งถึงบ้าน
นอกจาก “บ้าน” ได้กลายเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าบ้าน (work at/from home) ตามแนวโน้มใหม่ของพัฒนาการเทคโนโลยี
“บ้าน” ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ทำงานนอกบ้านของผู้ประกอบอาชีพใหม่ๆ บางอาชีพด้วย
จากงานบางอาชีพที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วว่าถ้าทำในบ้านโดยคนนอกครอบครัวมาทำก็จะมีค่าจ้าง ได้แก่ อาชีพ “แม่บ้าน” “ผู้ช่วยแม่บ้าน” “ผู้ดูแลเด็ก (ผดด.)” และ “ผู้ดูแลคนชรา” รวมถึงอาชีพหมอนวดและนักกายภาพบำบัดที่มาทำถึงบ้านเป็นครั้งคราว ตลอดจนอาชีพ ผู้สอนพิเศษ “ติวเตอร์” เฉพาะบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือดนตรี ที่บ้าน
สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราทำให้มีอาชีพใหม่ที่ “ส่งถึงบ้าน” ได้แจ้งเกิดหลายอาชีพด้วยสาเหตุความปลอดภัย
เช่นที่เรียกว่า personal trainer คือผู้สอนผู้ฝึกดูแลเล่นกีฬาออกกำลังกายโดยอาจรวมโภชนาการด้วย ซึ่งแต่ก่อนผู้ใช้บริการต้องเดินทางไปหาและฝึก ณ สถานที่ออกกำลังกาย หรือสถานที่บำบัด แต่บัดนี้มีผู้สอนที่พร้อมมาถึงบ้าน แม้กีฬาอย่างชกมวยสำหรับหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงาน ก็ไม่ต้องไปถึงค่ายมวย มีครูมวยเป็น personal trainer มาสอนถึงบ้านได้สบายมาก
เชื่อว่าอาชีพ personal trainer “ส่งถึงบ้าน” นี้แม้จะหลังโควิด-19 ก็จะยังมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ (มีกำลังซื้อ) ที่ตระหนักและมีเวลามากขึ้นว่าต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งนักวิชาชีพผู้ศึกษามาทางนี้ก็พร้อม “พัฒนา” วิธีการกายบริหารให้เหมาะแก่ “ผู้จ้าง” มากยิ่งขึ้น (personalized/customized) เช่น กายบริหารเหมาะกับสูงอายุวัยใดแบบไหนในเวลาหนึ่งชั่วโมงนั้น หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เช่น เคยมีอุบัติเหตุกับร่างกายส่วนใด ต้องระวังหรือต้องการฟื้นฟูส่วนใดเป็นพิเศษ เป็นต้น
เป็นไปได้ว่าอาจพัฒนารวมกลุ่มสองสามคนในหมู่เพื่อนๆ ทั้งเพื่อสังสรรค์ พบปะสนทนา โซเชียลไลซิง (socializing) โดยแชร์ค่าใช้จ่าย สนุกและคุ้มกว่าจ่ายเงินก้อนโตค่าสมาชิกสถานที่ออกกำลังกาย (ซึ่งในที่สุดสมาชิกก็ไม่ได้ใช้ทุกบริการที่มีอยู่) และบางครั้งก็เบื่อหากต้องเดินทางไปออกกำลังกายคนเดียว แม้จะมี “personal trainer” รออยู่ที่สถานออกกำลังกายก็ตามที
ต้องเข้าใจว่าวัยเกษียณ การออกกำลังกาย สันทนาการอื่นๆ เช่น ดนตรี วาดรูป ปั้นดิน เต้นระบำ เต้นรำ ฯลฯ อย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนสร้างชุมชนเล็กๆ ของตนเองสามารถสนองความต้องการได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ออกกำลังเพื่อความแข็งแรง ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ สม่ำเสมอเพื่อบริหารสมองและชะลอความเสื่อม ได้พบปะสังสรรค์ “โซเชียลไลซิง” สนุกสนาน ได้คลายความเหงาความโดดเดี่ยว ฯลฯ
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีความปลอดภัยที่รับประกันได้ทั้งจากโรคภัยและอันตรายอื่นต่อร่างกายและทรัพย์สิน ใครสามารถบริหารจัดการเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ได้ก็จะสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ก่อนใคร
อาชีพผู้สอนหรือฝึก (instructors) รวม “ ติวเตอร์” ด้วยนั้น จากสอนพิเศษบางวิชา บัดนี้มี “ติวเตอร์” ที่พัฒนามาเป็นการสอนหลักสูตรปกติอย่างที่สอนในโรงเรียน เสนอสนองพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่วางใจนักว่าการเรียนออนไลน์อย่างเดียวโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์กับครูต่อต่อตัวแม้จะมีอุปกรณ์เทคนิคครบพร้อมนั้น จะทำให้ลูกหลานเข้าใจและแตกฉานในวิชานั้นๆ ได้
โดยเฉพาะประเทศควบคุมโควิด-19 ไม่ได้ผล เช่น สหรัฐ อาชีพติวเตอร์สอนเต็มหลักสูตรกำลังรุ่ง ยิ่งพอเริ่มฤดูโรงเรียนเปิดสิงหานี้ สถิติติดเชื้อพุ่ง ต้องปิดโรงเรียนระลอกสองเช่นในมลรัฐจอร์เจีย เทนเนสซี ในมลรัฐมิสซิสซิปปี นักเรียน 2,035 และครู 589 คนต้องถูกกักตัวหลังโรงเรียนเปิดไม่ถึงสัปดาห์
องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าในการระบาดรอบ 2 เยาวชนคนอายุน้อยกำลังติดและแพร่เชื้อมากขึ้นทั่วโลก ต่างจากการระบาดรอบแรกที่ผู้สูงอายุติดเชื้อมากกว่า
ครูสอน “ส่งถึงบ้าน” อาจช่วยแก้ปัญหาโรคระบาดเฉพาะหน้า ทำให้ครูอาจารย์นักการศึกษาที่กำลังล้นงานตกงานมีงานมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น แต่ว่าปัญหาความ “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษาจะยิ่งบานปลาย โดยเฉพาะในประเทศปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงมากอยู่แล้ว การศึกษาแบบ “ส่งถึงบ้าน” นี้สำหรับเฉพาะครอบครัวมีกำลังซื้อเท่านั้น
แน่นอนว่าอาชีพให้บริการงานบ้านและงานพยาบาลดูแล “ส่งถึงบ้าน” ย่อมมีอนาคตสดใสยิ่งกว่าเดิมที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการบริหารจัดการเป็นธุรกิจอยู่บ้างแล้ว พบว่าพ่อแม่ต้องทำงานที่บ้านและดูแลลูกไปด้วยช่วงโรงเรียนปิด เพราะโควิด-19 ประสิทธิภาพทำงานย่อหย่อนมีนัยสำคัญ บ้างทำงานแทบไม่ได้เลยแม้ในอาชีพทำที่บ้านได้สบายๆ ในทางเทคนิค เช่น โปรแกรมเมอร์ นักวิจัย ครูอาจารย์บรรยายออนไลน์ แพทย์จิตเวช นักเรียบเรียงเขียนข่าว นักออกแบบโฆษณา ฯลฯ
อีกทั้งพบว่าเมื่อต้องทำงานที่บ้านทั้งสามีภรรยาในสถานการณ์โควิด-19 ภาระงานบ้านดูแลลูกตกอยู่ที่ฝ่ายหญิงมากกว่า แม้สามีจะช่วยทำงานบ้านดูแลลูกด้วยก็ตาม การกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกในบ้านมีมากขึ้น เหนื่อยเครียดเสียสุขภาพไปตามๆ กัน ความรุนแรงในครอบครัวมีสถิติสูงขึ้นในยุโรปและในอเมริกาใต้ เชื่อว่าที่อื่นๆ รวมทั้งบ้านเราที่ไม่ได้เก็บหรือไม่ได้แสดงสถิติ ก็คงมีสภาพคล้ายกัน
นอกจากนี้ จะยังมีงานประเภทโฆษณาโน้มน้าว (persuasion) เช่น ทางการขายซึ่งแตกไลน์กว้างขวางกว่าเพียงขายตรง แต่จะเกิดอาชีพผู้แนะนำสินค้า ผู้โฆษณา ผู้สร้างความนิยมน่าเชื่อถือ (influencers) เป็นต้น งานทางการเมืองก็ต้องการทักษะนี้
ส่วนงานให้ข้อมูลข่าวสาร (information) ที่ภาษาไทยขึ้นป้ายว่าประชาสัมพันธ์ จะต้องปรับตัวแข่งกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ต้องพูดได้หลายภาษาฉับพลัน มีความรู้ปฏิภาณในงานเฉพาะด้านเร็วกว่าเครื่องจักรอัตโนมัติ เช่น งานปฏิสัมพันธ์ในโรงพยาบาล ในงานประชุมใหญ่ๆ งานมหกรรมต่างๆ
อันที่จริงมีคาดการณ์ไว้แล้วว่างานอาชีพใหม่ๆ ดังกล่าวนี้จะเป็นแนวโน้มราวๆ ปี 2030 แต่ดูเหมือนว่าโควิด-19 ทำให้หลายอาชีพเป็นจริงเร็วขึ้น