HEALTH TECH STARTUP กับโอกาสแห่งอนาคต
ผมมีความฝันหนึ่งมาตลอดการดำเนินธุรกิจ 25 ปี นั่นก็คือ การทำเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record : EMR)
ผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ยาที่เคยรับ และการแพ้ยาต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา และเราสามารถใช้ข้อมูลนี้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือแม้แต่การเช็กข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่นั่นก็เป็นเพียงความฝันมาตลอด
แต่แล้วสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ก็ทำให้ความฝันของผมเกิดเป็นจริงขึ้นได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน เราสามารถทำให้เกิดระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แบบวิดีโอคอลขึ้นมาได้ แล้วสิ่งนี้ก็กลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าเมื่อมีวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส
Health Tech Startup เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนทำให้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ภายในระยะเวลาอันสั้น เรียกว่า “ถูกที่ถูกเวลา” นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ Demand และ Supply นั้นยังไม่เจอกัน เมื่อก่อนอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะได้ใช้ หรือไม่มี Demand แต่เมื่อ COVID-19 มา ทำให้ความต้องการมีมากขึ้น สตาร์ทอัพจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามเทรนด์ของโลกที่ธุรกิจประเภทนี้ได้รับการระดมทุนถึงกว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะทำอย่างไรให้สตาร์ทอัพคงอยู่และเติบโต ทั้งในด้านของการเงินและความยั่งยืน หัวใจแรกนั่นคือ “ตลาดต้องการ” ต้องให้มี Demand และ Supply ควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา โดยต้องค้นหา Demand ก่อนว่าตลาดต้องการอะไร (Market Insight) ก่อนที่จะพัฒนาให้ตรงกับความต้องการนั้น ซึ่งถ้าผลิตมาแต่ไม่มี Demand ก็จะเหมือนกับสตาร์ทอัพหลาย ๆ แห่ง ที่สุดท้ายก็จบด้วยการปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย
อย่างที่สองคือการทำให้เกิดการใช้งานได้จริงตรงตามความต้องการ (Behavior Analysis) โดยไม่เอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าของตอบโจทย์ผู้บริโภคและมีประสิทธิภาพมากพอ เงินก็จะตามมาในที่สุด แน่นอนว่าของดี ใคร ๆ ก็อยากใช้งาน และเมื่อนั้นนักลงทุนก็จะวิ่งมาหาเราเอง
สามคือการหาความจำเป็นของการใช้งาน โดยต้องเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องใช้งาน สามารถช่วยอุดรอยรั่วของ Pain Point ต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่ทำตามเทรนด์เท่านั้น
นอกจากนี้การทำ Partnership และการสร้าง Ecosystem ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจสำคัญข้อนี้เป็นข้อที่หลาย ๆ สตาร์ทอัพอาจละเลยไป
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ก็ยังเป็นรองด้าน Business Model การหา Demand การสร้าง Partnership การทำ Ecosystem การทำสิ่งที่ทุกคนต้องการนั้นสำคัญกว่า นี่แหละคือความสำเร็จของ Health Tech Startup ยุคใหม่ ซึ่งผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ Health Tech Startup เพราะยิ่งมีความสำเร็จ ก็จะยิ่งยกระดับการเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และที่สำคัญยังสามารถช่วยเหลือคน ชุมชน และสังคมได้อีกด้วย
พบกันใหม่คราวหน้า และหากท่านใดที่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีไอเดียใหม่ที่น่าสนใจ สามารถส่ง E-mail เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้นะครับ