ว่าด้วยความฉลาดเรื่องชีวิต

ว่าด้วยความฉลาดเรื่องชีวิต

สถาบันการศึกษามักจะสอนแต่ความรู้/ทักษะ, ความฉลาดด้านการทำงาน การประกอบอาชีพ แต่ขาดความสนใจเรื่องความรู้/ทักษะความฉลาดในการใช้ชีวิต

ในการรู้จักควบคุมดูแลความคิดจิตใจอารมณ์ให้เกิดผลบวก การรู้จักแก้ปัญหาความวิตกกังวล ความเครียด และปัญหาทางด้านจิตใจอื่น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตมนุษย์ ไม่น้อยไปกว่าการทำงานหาเงินมาสนองความต้องการทางร่างกาย

สำหรับคนรวย คนชั้นกลางที่พอมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างพอเพียงแล้ว เรื่องความฉลาดในการใช้ชีวิต ความฉลาดทางอารมณ์และทางสังคม (ทักษะทางชีวิต, ทักษะทางสังคม) ยิ่งสำคัญมากขึ้นในแง่ที่ว่าหลายคนร่ำรวยจริง แต่ไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีความสุข ความพอใจ มีสุขภาพจิตที่ดีมากนัก

นักจิตวิทยา นักปรัชญา นักเขียนกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้ง The School of Life (โรงเรียนแห่งชีวิต) และเขียนหนังสือชื่อเดียวกันนี้ไว้อย่างน่าสนใจ แนวคิดของพวกเขาโดยสรุปดังนี้

1.มองโลกตามความเป็นจริงว่าการใช้ชีวิต ทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องซับซ้อน ที่มีความยากลำบาก ถึงแต่ละคนจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็มีโอกาสผิดพลาด มีปัญหาอุปสรรค ที่เราควรทำความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก เราจะได้ทำกิจกรรมด้วยความสงบไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือผิดหวังมากไป

2.เข้าใจและรู้สึกชื่นชม, ขอบคุณกับช่วงที่เรารู้สึกสงบสุขและสวยงาม แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ โดยไม่ต้องคาดหวังมากเกินจริงว่าเราต้องได้ชัยชนะ หรือประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ เราถึงจะรู้สึกชื่นชม, ขอบคุณได้ ชัยชนะครั้งใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ยากอาจเกิดขึ้นได้ นานๆ ครั้ง หรืออาจจะเกิดขึ้นเลยก็ได้

3.เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง มีความต้องการ ความคาดฝันในบางเรื่องที่ดูเหลวไหลไร้เหตุผล อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลง ขาดวุฒิภาวะ อยากทำอะไรแปลกๆ รวมทั้งเรื่องเพศ ควบคู่ไปกับจุดแข็ง เช่น ความฉลาด ความมีวุฒิภาวะ ความมีจริยธรรม ไม่มีใครสมบูรณ์แบบที่ไม่มีข้อติเลย เราไม่ควรคาดหมายว่าตัวเราเองหรือคนที่เราสัมพันธ์ด้วยจะต้องสมบูรณ์แบบ เราจะได้ไม่โทษตัวเองหรือคนอื่นเรื่องจุดอ่อนที่มนุษย์มีกันเป็นปกติ และจะได้รัก เมตตา ต่อตัวเองและคนอื่น มากกว่าที่จะดูแคลน/ไม่พอใจ

4.รู้จักมีอารมณ์ขัน หัวเราะเยาะตัวเองที่บางครั้งเราอาจทำอะไรเปิ่นๆ เชยๆ หรือทำผิดพลาดอย่างโง่ๆ ได้โดยไม่รู้สึกผิด ไม่ลงโทษตัวเองมากเกินไป หรือถ้าเป็นคนใกล้ชิด คนที่เราสัมพันธ์ด้วยเป็นคนทำ ถ้าเราหัดมองอย่างมีอารมณ์ขัน เราก็จะให้อภัยเขาได้ โดยไม่โกรธหรือไม่กล่าวซ้ำเติม เพราะเราเข้าใจว่านี่คือเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนได้ในบางครั้ง

5.สุภาพต่อผู้อื่น การพูดจาแนะนำด้วยถ้อยคำในเชิงบวกที่สุภาพ (ด้วยความจริงใจ) ด้วยความเข้าใจเรื่องชีวิตและจิตวิทยาของผู้คนว่าการจะเปลี่ยนแปลง แนะนำคนให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ต่างออกไปนั้นเป็นเรื่องทำได้ยาก การพูดคุย วิจารณ์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาอาจจะเป็นเรื่องที่คนรับได้ยากหรือเข้าใจไปเป็นอย่างอื่นในทางลบได้ การจะช่วยเหลือแนะนำคน เช่น ลูกหลานคู่ครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน จึงจะต้องพยายามเข้าใจจิตวิทยาความคิดอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง และพยายามช่วยให้แต่ละคนได้พัฒนาจุดแข็งหรือด้านบวกของพวกเขา มากกว่าที่จะเพ่งเล็งข้อที่แตกต่างไปจากความคิดมาตรฐานของเรา

6.ยอมรับตนเอง ยอมรับว่ายังมีช่องว่างระหว่างชีวิตในอุดมคติที่เราอยากเป็นและชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความทะเยอทะยานอาจจะมีส่วนช่วยให้คนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ พยายามปรับปรุงตัวเอง แต่เราไม่ควรลุ่มหลงยึดติดจนผิดหวัง เสียใจเป็นทุกข์ เมื่อไม่สามารถก้าวข้ามไปถึงได้ ไม่ยึดติดความเย่อหยิ่ง อหังการ มองชีวิตอย่างเข้าใจว่าทุกคนมีแนวโน้มที่จะทำผิดพลาด ทำอะไรโง่เขลาหรือน่าเกลียดได้ในบางครั้ง แต่ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรง ถึงจะต้องละอายหรือลงโทษตัวเองไปตลอดชีวิต

7.รู้จักให้อภัย เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้แรงกดดันของความทะเยอทะยาน การปกป้องผลประโยชน์และการแสวงหาความสุขของเขาแต่ละคน การที่คนบางคนดูเหมือนจะใจแคบ เห็นแก่ตัว หรือทำอะไรที่ไม่ดีนั้นเป็นผลพลอยได้มาจากการที่มนุษย์ต้องแข่งขันกันในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดมากกว่าความตั้งใจจะทำเลว การเข้าใจมนุษย์คนอื่นในแง่นี้ จะทำให้เรารับมือหรือรู้สึกเจ็บปวดกับความก้าวร้าว ความใจแคบของคนอื่นที่กระทบเราได้ดีกว่าการตีความว่าพวกเขาตั้งใจที่จะทำร้ายเรา

8.การรู้จักยืดหยุ่นฟื้นฟูตัวเองได้ใหม่ คนฉลาดเรื่องการใช้ชีวิตมีความสำนึกที่ดีในเรื่องการทำตัวให้อยู่รอดในโลกที่มีปัญหาเป็นเรื่องปกติ เขารู้ว่าถึงจะมีเรื่องผิดพลาดหรือสถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น มันก็จะสิ้นสุดที่จุดจุดหนึ่ง (ไม่ถึงกับทำให้ตาย) ชีวิตยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่หลงยึดติด พึ่งพาชื่อเสียง ความร่ำรวย ความสัมพันธ์ส่วนตัว สุขภาพ มากจนเกินไปถึงขั้นที่ว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป เขาจะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป แต่รู้วิธีที่จะปรับตัวให้รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนยังเหลืออยู่ อยู่รอดต่อไป และอาจมีโอกาสฟื้นฟูได้ในภายหลัง

9.ไม่อิจฉาแบบเรื่อยเปื่อย เข้าใจว่าการที่เราไม่สามารถได้สิ่งต่างๆ ที่เราต้องการมากพอ หรือได้น้อยกว่าคนอื่นนั้นมีเหตุผลบางอย่าง หรือบางกรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวะ หรือชะตากรรม ความบังเอิญ ที่อาจเกิดขึ้นกับบางคน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา คนที่ชนะก็มีปัญหา มีจุดอ่อนของตัวเขาเองด้วยเหมือนกัน ไม่ได้เป็นคนเลอเลิศ หรือคนดี คนมีความสุขเสมอไป เป็นเรื่องชะตากรรมของแต่ละคน

10.มองเรื่องการประสบความสำเร็จและล้มเหลวแบบไม่สุดโต่ง การพยายามจะเอาชนะ พยายามประสบความสำเร็จเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถึงได้มาก็ไม่ได้วิเศษเลอเลิศถึงขั้นจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก ไม่หลงระเริงกับความสำเร็จ ส่วนการพ่ายแพ้ ล้มเหลว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่ได้เลวร้ายมากมาย และเรายังอาจจะเรียนรู้บทเรียน แก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นต่อไปได้

11.เข้าใจว่าการวางเป้าหมายชีวิตแบบสมบูรณ์แบบคือภาพมายา และความผิดพลาดเสียใจ เป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เช่น เราไม่มีข้อมูลที่ดีพอในการตัดสินใจในหลายสถานการณ์ หรือมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การตัดสินใจทำอะไรของเราผิดพลาดได้ เราควรมองชีวิตในเชิงเปรียบเทียบว่าถ้าทำได้ดี ก็ดี แต่ถ้าพอใช้ได้ก็เพียงพอแล้ว เพราะชีวิตที่สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติเลยนั้นเป็นเพียงคติความเชื่อแบบโรแมนติกที่เป็นไปไม่ได้จริง ส่วนความจริงของชีวิตนั้นมีทั้งส่วนที่น่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจ

12.การมีจิตใจสงบ ความฉลาดเรื่องชีวิต รู้ว่าชีวิตมีความผันผวนขึ้นลงและมีโอกาสมีปัญหาอุปสรรค เรื่องที่ไม่น่าพึงพอใจเกิดขึ้นในบางช่วงของชีวิต เตรียมใจฝึกจิตใจให้สงบ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ายังดีที่ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ พอใจกับความรู้สึกดีในเรื่องเล็กน้อย เช่น ถ้าวันไหนฝึกให้ตัวไม่วิตกกังวลได้ก็ถือว่าวันนี้เรามีชีวิตที่ดีแล้ว