การดูแลผู้สูงอายุ (2)
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยปี 2561 และมีข้อสรุปว่าการจะลดภาระทางเศรษฐกิจ
จากจำนวนผู้สูงอายุของไทยที่จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 11 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 20 ล้านคนในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านั้น ดูเหมือนว่าจะต้องขับเคลื่อนให้กลุ่มที่มีอายุ 60-79 ปีนั้นยังมีสุขภาพแข็งแรงและทำงานหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป
ทั้งนี้เมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้วก็น่าจะหมายถึงการปลอดโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแก่ตัว (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง) ซึ่งจะเป็นภาระสำหรับระบบสาธารณสุขได้อย่างมาก หมายความว่าหากคนกลุ่มนี้ปลอดโรคและทำงานได้ ก็จะเหลือผู้สูงอายุที่อายุ 80 ปีหรือมากกว่าที่อาจเป็นภาระต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพียง 1.3 ล้านคนในปี 2561 และเพิ่มเป็น 3.1 ล้านคนในปี 2581
ประเทศที่จัดระบบการดูแลสุขภาพที่น่าสนใจมากที่สุดประเทศหนึ่ง ที่มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็งคือสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์กลางสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (Centers of the National Institutes of Health : NIH) โดยรัฐสภาสหรัฐเมื่อปี 1974 โดยเป็นศูนย์รวมของสถาบันวิจัยที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลทุกปี (เมื่อปีงบประมาณ 2019 ได้รับอนุมัติเงิน 39,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพใน 27 ด้าน โดยมีสถาบันที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อการนี้ทั้งหมด 27 สถาบัน
สถาบันที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ National Institute on Aging : NIA ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมงานวิจัยและกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุแล้ว ก็ยังได้รับมอบหมายให้เป็นสถาบันหลักในการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม (โดยเฉพาะโรค Alzheimer’s) อีกด้วย
ทั้งนี้ NIA ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2020-2025) โดยวิสัยทัศน์ของ NIA คือการขับเคลื่อนให้คนอเมริกันทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีอิสระเมื่ออายุสูงขึ้น“enable all Americans to enjoy robust health and independence with advancing age” ซึ่งสำหรับผมนั้นถือว่า “โดน” มาก เพราะน่าจะเป็นความหวังอันสูงสุดของผู้สูงอายุทุกคน ทั้งนี้ NIA ได้รับงบประมาณในปี 2019 รวมทั้งสิ้น 3,080 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 97,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลย
ในสาระสำคัญนั้น NIA มีภารกิจและงบประมาณที่จะส่งเสริมการวิจัยทั้งในสหรัฐและทั่วโลก โดย NIA ประเมินว่าปัจจุบันมนุษย์สามารถควบคุมและรักษาโรคติดเชื้อและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจนกระทั่งอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก วันนี้การสูงวัยจึงกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคไตวายและโรคเบาหวาน (“aging itself remains the most significant risk factor for many chronic diseases and conditions including Alzheimer’s disease and related forms of dementia….”)
NIA ประกาศว่ามีเป้าหมายในการใช้งบประมาณสนับสนุนงานวิจัยและกิจกรรมทั้งหมด 9 เป้าหมาย แต่ผมขอนำเอาเพียง 3 เป้าหมายมาขยายความ ได้แก่
1.เข้าใจกระบวนการแก่ตัวของร่างกายเพื่อนำมาสู่การป้องกัน (prevention) ชะลอการพัฒนาและส่งเสริมการดูแลรักษาโรคภัยและการนำไปสู่การพิการของร่างกาย
2.พัฒนาวิธีการที่จะรักษาสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย เพื่อลดภาระ โรคภัย ความผิดปกติและการพิการของร่างกายในวัยสูงอายุ
3.พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับการแก่ตัวของสมอง โรค Alzheimer’s และโรคสมองเสื่อมต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากจะรับผิดชอบการส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการแก่ตัวแล้ว NIA ยังได้รับมอบหมายให้แกนนำด้านงานวิจัยเพื่อรักษาโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
ในส่วนของข้อ 1 (Better understand the biology of aging) นั้นยังยืนยันว่าความแก่ไม่ใช่โรค (aging is not disease) แต่มีข้อสังเกตว่าโรคหลายชนิดเร่งกระบวนการแก่ตัวของร่างกาย โดยเฉพาะการอักเสบระดับต่ำแบบเรื้อรัง (low-level chronic inflammation) การอักเสบแบบเรื้อรังมีผลต่อสุขภาพและการแก่ตัวของร่างกายอย่างไรนั้น ผมจะขอเขียนถึงในโอกาสต่อไป แต่ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องอาจกูเกิล “Inflammaging” ล่วงหน้าไปได้เลย
NIA ยังกล่าวถึงแนวทางในการขยายอายุขัยและอายุขัยที่มีสุขภาพแข็งแรง (interventions that extend lifespan also extend health span) โดยให้ความสำคัญกับ cellular senescence หรือการที่เซลล์หมดสภาพเป็นซอมบี้ (zombie) แต่ไม่ยอมตายไป ซึ่งในสภาวะดังกล่าวเซลล์จะยังผลิตสารเคมีที่ก่อให้เกิดการอักเสบและบ่อนทำลายเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง
ดังนั้น NIA จึงให้ความสำคัญกับการทำวิจัยที่จะกำจัดเซลล์ซอมบี้ดังกล่าว (senolytics) และพบว่าการกำจัดเซลล์ซอมบี้ในหนูทำให้หนูสุขภาพดีและอายุยืน
NIA ยังกล่าวถึงการกำจัดการบริโภคแคลอรี (caloric restriction) ซึ่งเซลล์ปกติจะปรับตัวกับสภาวการณ์และทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอ ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองว่าจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งโดยการทำคีโม (chemotherapy) ได้หรือไม่
และประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ การกล่าวถึง epigenetic changes ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะคุ้นหู แต่ผมขอแปลว่าการทำงานของยีนในเซลล์ที่ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา ปัจจัยรอบข้างและพฤติกรรมเช่นการสูบบุหรี่และไม่ออกกำลังกายที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเซลล์เลอะเลือนและหย่อนประสิทธิภาพลง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการแก่ตัว แต่ที่น่าสนใจคือปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นสามารถส่งผ่านไปให้ลูกหลานและกระทบกับอายุขัยและสุขภาพของลูกหลานได้
กล่าวคือการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ epigenetics นี้จึงอาจนำมาซึ่งแนวทางในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและยาวนานได้ในอนาคต ซึ่งเรื่อง epigenetics นี้ผมก็จะขอเขียนถึงในรายละเอียดในโอกาสหน้า
จะเห็นได้ว่าแนวคิดในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในส่วนของการทำงานวิจัยนั้นกำลังพลิกไปสู่การทำให้ร่างกายสุขภาพดีอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงการเป็นโรคโดยเป็นการวิจัยระดับยีนและเซลล์มากกว่าการเตรียมตั้งรับการรักษาโรคไปทีละโรคและรอดูแลผู้แก่ชราที่จะช่วยตัวเองไม่ได้ครับ